นักวิชาการชี้ แบงก์ไทย กำไรไม่สูงผิดปกติ ระบุลดดอกเบี้ยอาจสร้างปัญหาเพิ่ม แนะปรับทัศนคติอนุรักษ์นิยม
จากกรณี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ตั้งคำถามถึงกำไรของธนาคารไทย ที่พุ่งสูง 2.2 แสนล้าน โดยส่วนใหญ่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย พร้อมตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารู้สึกถึงความผิดปกติหรือไม่นั้น
วันที่ 9 มกราคม สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล ระบุว่า เดี๋ยวจะหาเวลาเขียนอธิบายเป็นซีรีส์บทความนะคะ เพราะ “การแข่งขันในภาคธนาคาร” เป็นประเด็นที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว แต่อยากเขียนอะไรสั้นๆ ก่อนนะคะ
“กำไรธนาคาร” ไม่ได้สูง “ผิดปกติ” ในมุมการเงินทั่วๆ ไป เพราะถ้าเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไป (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือ ROE) หรือตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM มันก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น
แต่ในสายตาประชาชนที่เดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ตัวเองเจอ หลายคนอาจโวยวายว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ
ปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน สมมุติเราตีความปัญหาว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ เกิดจากการที่ ธปท ยอมให้ธนาคารทั้งหลายคิดดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ธปท ควรสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ยซะ —> แต่ถ้าปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แก้แบบนี้แทนที่จะแก้ปัญหาอาจเพิ่มปัญหา เพราะถ้าแบงก์มองว่าลูกหนี้จำนวนมากเสี่ยงเกินกว่าที่เขาจะปล่อยสินเชื่อ ยิ่งให้ลดดอกเบี้ยเขายิ่งไม่ปล่อย ปล่อยแต่ลูกค้าชั้นดีดีกว่า
แล้วปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นส่วนผสมระหว่าง ต้นทุนสูงบางส่วนเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพ (เช่น ทุ่มเงินลงทุนในระบบ IT แต่ล่มแล้วล่มอีก) บวกกับ ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาดเวลากลั่นกรองสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 26 ปีที่แล้ว
ประเด็นความไร้ประสิทธิภาพ แก้ได้ด้วยการให้ ธปท กำกับอย่างจริงจังในทางที่จูงใจให้ลงทุนในประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น เลิกกฎแย่ๆ ที่สั่งปรับ 5 แสนบาทเมื่อระบบ e-banking ล่มถึง 8 ชั่วโมง (สิบนาทีก็มากแล้ว) ต้องเพิ่มบทลงโทษให้หนักเหมือนในต่างประเทศ, เพิ่มการกำหนดเกณฑ์ privacy + cybersecurity ที่ได้มาตรฐานสากล, บังคับให้ใช้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ เป็น KPI ในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ เป็นต้น
ส่วนประเด็น ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาด แก้ได้ด้วยการให้ ธปท เปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มี “legacy” นี้ + พัฒนาโครงสร้างที่ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้โดยเฉพาะ SME — เช่น ใบอนุญาต virtual bank ห้ามธนาคารเดิมสมัคร, ผลักดันกฎหมาย open data บังคับธนาคารใหญ่เปิดข้อมูล, แก้กฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของฟินเทคหน้าใหม่ (เช่น ให้ บสย ค้ำประกันให้ฟินเทคได้), ปลดล็อกอำนาจผูกขาดในธุรกิจ credit scoring, promptpay และ national digital ID (หรือกำกับให้เป็นธรรมขึ้น), ทำทะเบียนหลักประกันออนไลน์, ฯลฯ
จริงๆ มีประเด็นอื่นอีกมากที่น่าทำ เช่น มาตรการจูงใจให้คนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีเงินออมระยะยาว คล้าย Individual Retirement Account ในอเมริกา — ไว้จะค่อยๆ ทยอยเขียนนะคะ
ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4365900