จิปาถะ

“สุริยะ” สั่งรวมขนส่ง บขส.เชื่อมระบบราง


15 มกราคม 2567
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนที่จะยกระดับมาตรฐานการพัฒนา การให้บริการระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทั้งราง แบบบูรณาการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาพร้อมปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยหมอชิต 2 ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปว่าจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารสาธารณะแห่งใหม่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อให้มีการรวมสถานีขนส่งผู้โดยสาร สายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ มารวมไว้ที่เดียวกัน โดยตั้งเป้าจะต้องแล้วเสร็จ และสามารถเสนอ ครม.ได้ภายในปีนี้ ส่วนการก่อสร้างในการรวมทุกสถานีจะต้องสำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

“สุริยะ” สั่งรวมขนส่ง .jpg

สำหรับสาเหตุที่มีแนวนโยบายให้ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง สายเหนือ สายอีสาน และสายใต้มายังบริเวณพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้สถานีขนส่งผู้โดยสารจะกระจายไปตามทิศต่างๆของกรุงเทพ มหานคร ทั้งสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ สถานีเอกมัย สถานีรถเล็กจตุจักร ทำให้ประชาชนไม่สะดวกในการเข้าถึงการบริการประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีระบบราง ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงรองรับ

ขณะเดียวกันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อและรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนได้อีกด้วย จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางได้แบบครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การก่อสร้างดังกล่าวทาง บขส.จะต้องมีการรีโนเวทปรับปรุง เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในหมอชิต 2 เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น

นายสุริยะ กล่าวยืนยันว่า นโยบายกระทรวงคมนาคมจะไม่มีการย้ายสถานีหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชรกลับไปยังสถานีขนส่งหมอชิตเดิมที่เคยอยู่ที่ริมถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์อย่างแน่นอน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีการพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้วเสร็จและมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน ขณะเดียวกันสถานีดังกล่าวก็เป็นจุดเชื่อมส่งต่อระบบรางได้อย่างครอบคลุม

ส่วนกรณีที่ว่าหากมีการย้ายหมอชิต 2 มาที่พื้นที่บริเวณสถานีกลางนั้น จะกระทบต่อแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของ รฟท.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่หรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ ทาง รฟท.จะต้องไปปรับแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณพหลโยธินให้สามารถสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารได้เพราะเป็นนโยบาย ส่วนจะเป็นแปลงใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อสรุปของผลการศึกษา ความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนที่ รฟท.จะพัฒนาอย่างแน่นอน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า หากยุบสถานีขนส่งผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่แล้วมาอยู่ที่เดียวกันที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว พื้นที่เดิมของแต่ละสถานีจะมีนโยบายดำเนินการอย่างไรนั้น ในเรื่องนี้ทาง บขส.จะเป็นผู้ศึกษาว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้ กับ บขส. อย่างไรต่อไป ซึ่งก็มีทั้งในรูปแบบการปล่อยเช่า หรือการขาย เช่น พื้นที่สถานีขนส่งเอกมัย ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 7,000 ล้านบาท เป็นต้น.

ที่มา : www.thairath.co.th