Wealth Sharing

ลั่นโอกาสชนะสูง CMO สู้กลับ คดีฮั้วโครงการ 736 ลบ.


15 มกราคม 2567
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) (CMO) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก  เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ปรากฏเป็นคดีหมายเลขลำดับ  ที่ อท 213/2566 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 โจทก์กับ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) จำเลย

CMO สู้กลับ.jpg

บริษัทฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงและเนื้อหาของคดีที่ไม่กระทบต่อรูปคดี อันเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นทราบ โดยมีรายละเอียดดังนี้   
เมื่อประมาณปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Universal Exhibition Milano 2015 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2558 โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสกหรณ์  เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงาน วงเงินงบประมาณ 736,890,000 บาท ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกรายชื่อบริษัทและนิติบุคคล จำนวน 10 ราย เพื่อเชิญชวนให้เข้าเสนองาน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้รับเรื่องกล่าวหา (บัตรสนเท่ห์ )เกี่ยวกับงาน Universal Exhibition Milano 2015 (EXPO MILANO 2015, ITAN)

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 มีบริษัทแจ้งความประสงค์ในการยื่นเสนองาน จำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัทฯ และกิจการร่วมค้า A
ในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 กำหนดให้มีการยื่นซองข้อเสนอทางเทคนิคและราคาค่าจางงานพร้อมวาง หลักประกันซอง
ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2556 เป็นวันนำเสนองานของนิติบุคคลทั้งสอง และปรากฏว่าคณะกรรมการจัดจ้างฯ
ได้พิจารณาให้กิจการร่วมค้า A ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ

ในวันที่ 17 มีนาคม 2566 คณะกรรมการป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาแกบริษัทฯ โดยกล่าวหาว่า บริษัทฯ โดย กรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้น ร่วมกันกับ กิจการร่วมค้า A ในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ กิจการร่วมค้า A เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา อย่างเป็นธรรม ต่อมาเมื่อปี 2559 นาย B ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกิจการร่วมค้า A ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัทฯ และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ได้เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทฯ  ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน 2566 บริษัทฯ ได้จัดทำชี้แจงยื่นให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยชี้แจงแก้ข้อ กล่าวหาในทุก ๆ ประเด็น ซึ่งประเด็นหลักคือบริษัทฯ ได้ทำการเสนอราคาอย่างตรงไปตรงมา ไม่เคยมีการเจรจาตกลง อะไรใด ๆ ต่อกัน การนำเสนองานได้ถูกนำเสนอโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ การจัดทำรูปแบบในรายละเอียดการเสนองานจัดทำด้วยความสวยงามเหมาะสมกับงานระดับนานาชาติ

ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้เจ้าพนักงานดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง กล่าวหานิติบุคคลจำนวนทั้งสิ้น 4 ราย และบุคคลทั้งสิ้นจำนวน 2 ราย ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการและในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 พนักงานอัยการได้ มีคำสั่งฟ้องบริษัทฯ

โดยในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนิติบุคคล 2 ราย ส่วนนิติบุคคลอีก 1 ราย และบุคคลธรรมดา 2 รายนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำตัวมาส่งฟ้องได้ทันภายในกำหนดอายุความคือวันที่ 16 ธันวาคม 2566

พฤติการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับข้าราชการ เอกชน และบุคคลธรรมดาหลายราย แต่ สุดท้ายแล้วมีเพียงบริษัทฯ รายเดียวที่ถูกดำเนินคดีต่อศาล

บริษัทฯ ได้มีการจัดหาทนายความที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในคดีอาญาของศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติ มิชอบ เพื่อว่าความแก้ต่างในความผิดดังกล่าวให้กับบริษัทฯ

ทั้งนี้ ในระหว่างเหตุการณ์นับตั้งแต่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหา บริษัทฯ มั่นใจว่าไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด พร้อมทั้งเชื่อมั่นในระบบกระบวนการ ยุติธรรม บริษัทฯ ได้ทำการชี้แจงโดยละเอียดตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้การปฏิเสธในชั้นตำรวจ ให้ความร่วมมือ ชั้นอัยการจนดำเนินการมาถึงชั้นศาล บริษัทฯ ได้จัดเตรียมข้อเท็จจริงของคดีและข้อต่อสู้ต่าง ๆ ไว้แล้ว

ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 บริษัทฯ ได้เชิญทนายความผู้เชี่ยวชาญในคดีลักษณะดังกล่าวเข้ามาอธิบายรายละเอียดและให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในการต่อสู้คดีซึ่งมีประโยชน์กับบริษัทฯ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะชนะคดีนี้และไม่เกิดความเสียหายใด ๆ กับบริษัทฯ
CMO