จิปาถะ

ลุ้นท่องเที่ยว-แจก1หมื่น พลิกฟื้นศก.ปีมังกรลุยไฟ


17 มกราคม 2567
ลุ้นท่องเที่ยว-แจก1หมื่น.jpg

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นปีมังกรทองลุยไฟ เผชิญหลายปัจจัยท้าทาย ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้


⦁ เศรษฐกิจปี 2567 เป็นมังกรลุยไฟ

หอการค้าไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นปีแห่งมังกรทองที่ต้องลุยไฟ เนื่องจากเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกไม่ต่างจากปี 2566 ทั้งปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ยังคงเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจของโลก และปัจจัยความท้าทายในประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบครอบคลุมหนี้ครัวเรือนจำนวนกว่า 100 ล้านบัญชี และหนี้นอกระบบอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ตลอดจนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นเร็วและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันและเติบโตเต็มศักยภาพได้อย่างเร็วที่สุด

แม้ว่ามังกรจะต้องลุยไฟ แต่ก็ถือเป็นปีมังกรทองที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่คิดว่าจะทยอยกลับมาเติบโตได้อย่างโดดเด่น จากมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ เช่น จีน, คาซัคสถาน, รัสเซีย, อินเดีย, ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศเป้าหมาย โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจำนวน 33-35 ล้านคน ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังรูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการ Digital Wallet หากสามารถดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย 1-1.5% ส่วนมาตรการอีซี่ อี-รีซีท คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลช่วยให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวได้ 0.15-0.2% เช่นเดียวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของรัฐบาลที่เน้น 10 ประเทศเป้าหมาย ที่น่าจะมีส่วนขยายการส่งออกได้ทั้งปีราว 2.0-3.0% และคาดว่าภาพรวมเงินเฟ้อจะขยับขึ้นในระดับ 1.7-2.2% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หอการค้าไทยจึงประเมินว่า GDP ปี 2567 น่าจะเติบโตได้ราว 2.8-3.3%

⦁ 4 ข้อเสนอให้รัฐบาล‘เศรษฐา’ขับเคลื่อน

ข้อเสนอหอการค้าไทยที่มีต่อรัฐบาลเพื่อเร่งวางรากฐานขีดความสามารถของประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้มีการยื่นข้อเสนอผ่านสมุดปกขาวงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 4 ประเด็นหลักสำคัญ ได้แก่

1.ประเทศไทยต้องยกระดับ Innovation Digital และนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งประเทศไทยยังขาดอยู่ จึงเสนอให้ภาครัฐยกระดับมาตรการ Talent immigration policy เพื่อดึงดูดคนต่างชาติที่เก่งเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย รวมถึงการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เอื้ออำนวยต่อการเข้ามาลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะสมัยใหม่ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการ Incentive ที่เหมาะสม เช่น การอำนวยความสะดวกเรื่อง Visa และ Work permit มาตรการทางภาษี มาตรการพำนักอยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นต้น

2.เร่งพัฒนานโยบายเพิ่มจำนวนประชากรและพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมเป็น Global Citizen

3.สนับสนุนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs ฟื้นตัว ควบคู่ไปกับแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเป็นระบบ

4.ผลักดันโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก ถือเป็นโมเดลต้นแบบความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการยกระดับรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศไทย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจและมีการหารือกับหอการค้าไทยถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้แทนของหอการค้าฯ โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดก่อนที่จะมีการแถลงข่าวเดินหน้าโครงการ ซึ่งนี่ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ที่หอการค้าไทยและรัฐบาลจะร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจในระดับจังหวัดให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และจะเป็นโมเดลเพื่อขยายผลกับจังหวัดอื่นๆ ในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้ จากการทำงานของรัฐบาลนายกฯเศรษฐาที่ผ่านมา เห็นได้ว่ามีความชัดเจนมากขึ้นแล้วในหลายมาตรการ ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางที่หอการค้าไทยได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้ โดยด้านการต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเป็นอย่างมาก ทั้งการเดินหน้าเจรจากับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ จีน ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดการลงทุนตรงมายังประเทศไทย และการเร่งรัด FTA กับนานาประเทศให้มากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนและขยายตลาดการส่งออกของไทยให้เติบโตได้มากขึ้น

⦁ มั่นใจจีดีพีไทยเติบโตปีละ 5%

การตั้งเป้าหมายผลักดัน GDP ให้เติบโตได้เฉลี่ยปีละ 5% แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ภาคเอกชนเชื่อว่าหากรัฐบาลและภาคเอกชนจับมือทำงานร่วมกันใกล้ชิดเพื่อผลักดัน ปลดล็อกข้อจำกัด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศได้มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

⦁ ชู Sustainability ช่วยพัฒนาประเทศ

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า SMEs ส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากนัก หอการค้าไทยพยายามผลักดันประเด็น Sustainability ให้ผู้ประกอบการในประเทศเกิดความตื่นตัวและเร่งปรับธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางใหม่ซึ่งการค้าโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน บริษัทสมาชิกขนาดใหญ่ของหอการค้าไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เริ่มต้นนำเอาโมเดล BCG และ ESG มาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของการดำเนินธุรกิจ มากไปกว่านั้นหลายบริษัทได้เริ่มถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการปรับตัวไปยังบริษัทคู่ค้าที่อยู่ใน Supply Chain ให้ทยอยปรับตัว เพื่อเดินหน้าธุรกิจสีเขียวไปด้วยกัน เช่น มิติด้านเกษตรและอาหาร หอการค้าไทยได้มีการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Thailand Future Food) การขับเคลื่อนโครงการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่ปลอดภัยสู่ชุมชนขาดแคลนอาหารกว่า 1.4 ล้านมื้อ การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อด้วยแนวทาง BCG ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมิติด้านการท่องเที่ยว หอการค้าไทยพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง HAPPY Model ยกระดับการท่องเที่ยว ด้วยอัตลักษณ์ชุมชน-ทุนทางวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส ซึ่งจะนำพาให้ธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ โดยจัดทำประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจให้ภาคธุรกิจเอกชนที่ประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณและหลักธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนา “คน” ซึ่งหอการค้าไทยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้สร้างกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneurs Chamber of Commerce) ให้เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ในแต่ละจังหวัดจนเป็นที่ยอมรับจากภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับผู้บริหารรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ ด้วยผู้บริหารและนักธุรกิจแนวหน้า ภายใต้ชื่อโครงการ Developing Outstanding Talents for Thailand หรือ DOT รุ่นที่ 1 นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้มีบทบาทในการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่าน Harbour space@UTCC โดยนำคนเก่งจากทั่วโลก มาสร้างคนเก่งออกสู่สังคม เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในเวทีโลก และจะยังมุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาคนรุ่นใหม่ต่อไป

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/special-interview/news_4376384