จิปาถะ

เคาะ ‘ภาษีที่ดิน 2567’ เก็บอัตราเดิมดับฝันธุรกิจ


18 มกราคม 2567

เคาะ ‘ภาษีที่ดิน 2567’ เก็บอัตราเดิมดับฝันธุรกิจ อ้อน ‘เศรษฐา’ ลด 50%

เคาะ ‘ภาษีที่ดิน 2567’.jpg

หลังลุ้นกันตัวโก่งว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2567 จะไปในทิศทางไหนล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ออกแนวทางซักซ้อมการจัดเก็บให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปปฎิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2565 ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7% พร้อมขยายเวลาการจัดเก็บออกไปอีก 2 เดือน จากเดิมกำหนดชำระภายในเดือนเมษายนเป็นเดือนมิถุนายน 2567 แต่ยังไม่มีสัญญาณจาก”รัฐบาลเศรษฐา”สุดท้ายจะลดหย่อนอัตราจัดเก็บให้เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

อสังหาชี้ศก.ไม่ฟื้นยื่น”เศรษฐา”ลด 50%
ท่ามกลางความไม่ชัด มีการเคลื่อนไหวจาก 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ตบเท้าเข้าพบ”เศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โดยยื่นข้อเสนอ 8 ประเด็น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

หนึ่งในนั้น เป็นประเด็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาส่วนลดให้เป็นระยะเวลา 1 ปี ในอัตรา 50% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงขอให้แก้ไขอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการที่ยังไม่ได้ขาย และการบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ จากกำหนดให้เป็นประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย

สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเมือง หรือ บริเวณซึ่งราคาประเมินที่ดินสูง แต่ยังคงประกอบการเกษตรกรรม ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดเพดานการชำระภาษี หรือ กำหนดอัตราภาษีต่อไร่ สูงสุดไม่เกินเท่าใด สำหรับกรณีที่เป็นมรดกตกทอดมา หรือซื้อมาเพื่อทำเกษตรก่อนมีพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับภาระภาษีได้ และไม่เป็นแรงกดดันที่จะต้องขายที่ดินออกไป ทั้งยังปรับสภาพแวดล้อมที่ดินในเขตเมือง แต่หากมีการเปลี่ยนมือไป ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินใหม่ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีในอัตราปกติ

แสนสิริ-แลนด์-ค้าปลีกภูธรโอดเพิ่มภาระ
“อุทัย อุทัยแสงสุข”ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ยื่นขอให้รัฐบาลพิจารณาลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินฯปี 2567 เหลือ 50% และให้สินค้าค้างสต๊อกเสียในอัตราที่อยู่อาศัย จากเดิมเก็บอัตราประเภทอื่นๆ หรือเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบภาระงบประมาณของรัฐมาก ยังช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการเพราะขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นและหากภาระด้านภาษีเพิ่ม สุดท้ายจะส่งผ่านไปยังการขึ้นราคาบ้าน ปัจจุบันแสนสิริมีแลนด์แบงก์ในมืออยู่พอสมควร ที่สามารถพัฒนาโครงการได้ 2-3 ปี

“นพร สุนทรจิตต์เจริญ”ประธานคณะกรรมการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีแลนด์แบงก์ในมือคิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท และในปี 2567 ยังเตรียมงบ 5,000 ล้านบาท ซื้อที่ดินเพิ่ม และยังมีสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมอยู่ ซึ่งทำให้มีภาระภาษีที่ดินฯเพิ่มขึ้นพอสมควร ในส่วนของแลนด์แบงก์มีการบริหารจัดการ ขณะที่สต๊อกเมื่อขออนุญาตจัดสรรโครงการแล้ว ใน 3 ปีแรกจะได้ยกเว้น แต่เมื่อขึ้นปีที่ 4 ต้องเสียในส่วนที่ยังเหลือ อย่างไรก็ตามขอให้รัฐพิจารณาตามความเหมาะสม และภาคเอกชนเองต้องหาวิธีการช่วยบริหารจัดการเองด้วย

“มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินฯที่มีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมานั้น ส่งผลกระทบทันทีกับต้นทุนการค้า แบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และกระทบแบบภาพกว้างกับธุรกิจทุกรูปแบบ ในขณะที่รายได้จากภาษีรัฐได้ไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงเงื่อนไขการจัดเก็บมีมาตรฐานและข้อกำหนดที่มีช่องโหว่สามารถเลี่ยงได้ ทั้งเรื่องการคำนวณพื้นที่ใช้สอย หรือเรื่องอื่นๆปลีกย่อย ไม่เป็นธรรมกับผู้ทำธุรกิจที่จ่ายภาษีที่ดินฯกันแบบตรงไปตรงมา

“ภาษีป้ายเป็นการเก็บภาษีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐได้รับรายได้ชัดเจน ไม่มีข้อกำหนดที่มีมาตรฐานในการพิจารณา ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามพื้นที่ กฎหมายมีข้อกำหนดที่ให้บุคคลสามารถวิเคราะห์และตัดสินได้ต่างพื้นที่ ทำให้การเก็บภาษีป้ายก็ต่างกัน เป็นอีกส่วนกลายเป็นต้นทุนทางธุรกิจแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้”มิลินทร์กล่าว

“มิลินทร์”ฝากถึงภาครัฐในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ หากสามารถปรับลด 50% หรือขยายเวลาลดหย่อนให้กับประชาชน ก็น่าจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทันที ซึ่งธุรกิจมีหน้าที่ต้องชำระภาษีที่ดิน ภาษีป้ายอยู่แล้ว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องการความชอบธรรม ให้ทุกเงื่อนไขใช้กับทุกคนได้เสมอภาคกันด้วยจะดียิ่ง และหากได้เห็นว่ารายได้จากภาษีดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไรบ้างจะยิ่งดีมาก

เอสเอ็มอีเปิดผลกระทบ 5 ด้าน
จากภาคอสังหา ค้าปลีก ฟังเสียงสะท้อนจาก”แสงชัย ธีรกุลวาณิช“ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมองว่าสถานการณ์มูลค่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย กรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดเก็บได้ราว 11,000 ล้านบาทในปี 2566 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จัดเก็บได้ราว 35,169 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าปี 2564 ที่จัดเก็บได้ราว 4,105 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีประเภทดังกล่าวกับต่างประเทศ ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

“แสงชัย”กล่าวว่า ขณะที่ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลดผลกระทบหลายด้านที่เป็นประโยชน์ แต่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนในหลายด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการส่งเสริมการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกต้องเหมาะสม ไขข้อสงสัยการลดหย่อน การคำนวณภาษีและสร้างโอกาสเข้าถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละท้องถิ่น อาทิ การจัดเสวนา อบรมให้ข้อมูลทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ การจัดกิจกรรมผ่านชุมชนแต่ละพื้นที่ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการรับชำระรูปแบบออนไลน์ เชื่อมโยงระบบกับภาษีอื่นๆ และให้คำแนะนำปรึกษาผ่าน ChatGPT เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการทางภาษี

2. การขยายระยะเวลาลดหย่อนภาษี 15% ออกไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ลดลงและภาระค่าครองชีพ ดอกเบี้ยและต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น 3. ราคากลาง ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของคุณภาพและราคาวัสดุที่มีความแตกต่างระหว่างบ้านหรูกับบ้านธรรมดาที่ต้องสะท้อนการประเมินราคากลางอ้างอิงที่ไม่ทำให้บ้านหรูจ่ายภาษีเท่ากับบ้านธรรมดา รวมทั้งยกเลิกบ้านหลังหลักไม่เกิน 3 ล้านบาทสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อลดผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนฐานราก

4. การจัดเก็บภาษีสถานประกอบการพาณิชย์ ค้าขาย ให้เช่า ที่อยู่อาศัยร่วมด้วยให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน และคำนึงถึงในแต่ละระดับขนาดกิจการ อาทิ รายย่อย รายกลางและรายใหญ่ให้เกิดความเป็นธรรมทางการใช้ประโยชน์ การจัดเก็บภาษีอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบกรับภาระสูง และอาจมีระบบผ่อนชำระภาษี 3-6 เดือนเพิ่มเติมเพื่อให้บรรเทาผลกระทบอีกทางหนึ่ง รวมทั้งมาตรกาช่วยเหลือบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็น NPL รหัส 21 อยู่ด้วย

5. การกำหนดอัตราภาษีที่จูงใจกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว การลดโลกร้อนและสิ่งปลูกสร้างที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซอฟต์เพาเวอร์สร้างมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น เพื่อการกระจายการถือครอง ส่งเสริมการให้เช่าและใช้ที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพธุรกิจคาร์บอนต่ำ กระจายรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินผู้ที่มีรายได้น้อยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทำให้การจัดเก็บภาษีของภาครัฐส่วนอื่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ต้องวัดใจ”รัฐบาลเศรษฐา”จะเซย์โนหรือโอเค ข้อเสนอภาคเอกชนที่สะท้อนออกมาดังๆ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4381128