จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ไทยขายรถยนต์ไฟฟ้าแตะอันดับ2ของอาเซียน หนุนธุรกิจยางแท่น TEGH โตต่อเนื่อง


18 มกราคม 2567
คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนของไทยช่วงปี 78  เติบโตขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2  หนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างยางพาราแท่ง ที่เป็นวัสดุดิบในการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ และผลงาน บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)  เติบโตแข็งแกร่ง 
 
รายงานพิเศษ ไทยขายรถยนต์ไฟฟ้าแตะอันดับ 2 ข.jpg

EY-Parthenon รายงานผลการการศึกษา รถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN โดยระบุว่า ตลาดใน 6 ประเทศกลุ่มอาเซียน (ASEAN-6) ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนยานพาหนะ 2 หรือ 3 ล้อเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเร็วที่สุด เนื่องจากจักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ และรถจักรยานยนต์ มีราคาไม่สูงมาก และพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จรถแบบพิเศษน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ฐานะที่ร่ำรวยมากขึ้นของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต

โดยปริมาณการขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 6 ประเทศ อาจสูงถึง 8.5 ล้านคันในปี 2578 โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการขายมากเป็นอันดับสอง จากประมาณการยอดขายต่อปีที่ 2.5 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการขายราว 35,000-42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2578 โดยตามหลังอินโดนีเซีย ซึ่งอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 50% ในประเทศขับเคลื่อนโดยรถไฟฟ้าสองล้อเป็นหลัก (ปริมาณการขายโดยประมาณ 4.5 ล้านคัน และมูลค่าการขาย 26,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
          
เนื่องจากตลาด ASEAN-6 มีจุดแข็งและความสามารถหลักที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด แบบ End-to-end ตั้งแต่การแปรรูปวัตถุดิบไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ โดย 6 กลุ่มมูลค่าหลักของธุรกิจนี้ ประกอบด้วย 
          
1) วัตถุดิบและการแปรรูป 2) การผลิตพลังงาน 3) การผลิต การประกอบ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ 4) การผลิตยานยนต์ การขายปลีก และตลาดหลังการขาย 5) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จไฟฟ้า และ 6) ซอฟต์แวร์การจัดการการชาร์จไฟฟ้า

ซึ่งต้องยอมรับว่า อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนที่สำคัญในรถยนต์ทุกประเภท รวมทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะต้องมียางพาราเป็นส่วนประกอบและเป็นวัสดุที่สำคัญ  โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการแผนงานการเติบโตของบมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)   ซึ่ง “สินีนุช โกกนุทาภรณ์”  TEGH  ระบุถึงแผนธุรกิจในปี 67 ว่า บริษัท เตรียมขยายกำลังการผลิตยางแท่งเพิ่มอีก 70,000 ตัน  ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 390,000 ตัน ซึ่งแผนขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นสอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ 
         
"การขยายกำลังการผลิตยางแท่งจะทำให้เกิด Economy of Scale ต้นทุนการผลิตจะลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงต่อหน่วย นอกจากนั้น เรายังมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นการลดต้นทุนไฟฟ้าและมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral  ซึ่งบริษัทฯได้ติดตั้ง solar roof เสร็จสิ้นไปแล้ว 1 เมกะวัตต์ มีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 1.25 เมกะวัตต์ในปี 67 และยังคงเน้นการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทน LPG ในอัตราส่วนที่มากกว่า 90%" 
         
ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทได้แก่  ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ  ภายหลังจากที่บริษัทมีการปรับปรุงเครื่องจักร เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ส่งผลดีต่อปริมาณและคุณภาพสินค้า โดยมีอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (%OER) ดีขึ้น อยู่ในช่วง 18-19% และสามารถเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบเกรดดี (กรดต่ำ) ได้ 

สำหรับโครงการติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เพิ่มเติม เป็นไปตามแผน  ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้อีก 30 ตันปาล์มทะลายสด/ชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบได้ช่วงไตรมาส 1/67 จะทำให้สามารถรับปาล์มทะลายสดได้เพิ่มขึ้นในช่วงพีคของปาล์ม และไม่ต้องหยุดการผลิตในกรณีที่หม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา
         
"เรายังคงมุ่งเน้นบริหารจัดการด้านต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการขยายธุรกิจผลิตพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์มากขึ้น เป็นการสร้างฐานรายได้ประจำที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ (Recurring Income) ซึ่งโครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพดำเนินไปตามแผน คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีหน้า และการขยายในเฟสถัดไปจะเริ่มในต้นปี 67 เพื่อรองรับโครงการซื้อขายก๊าซชีวภาพกับลูกค้าภายนอกกลุ่ม ที่คาดว่าจะเริ่มซื้อขายก๊าซชีวภาพได้ในปลายปี 67" นางสาวสินีนุช กล่าว