จับประเด็นหุ้นเด่น

รายการพิเศษ : TPLAS บุกตลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม เตรียมออกบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก


19 มกราคม 2567
กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้นในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์  ซึ่งผู้บริหาร บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS) ก็มีนโยบายออกบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในปีนี้

รายงานพิเศษ TPLAS บุกตลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม.jpg

เทรนด์บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่มาแรงในปี 2023  ตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่า 252,400 ล้านเหรียญสหรัฐ   โดยคาดว่าในช่วงปี2566 ถึง 2573 น่าจะมีการขยายตัวที่ 5.8% ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนให้มีการเติบโต คือ ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน

ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่าแนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ของไทยในปี 2566 จะขยายตัว 4.0% อยู่ที่ 6.69 แสนล้านบาท ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว  โดยเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ttb analytics จึงเสนอแนะให้ผู้ประกอบการทยอยปรับสัดส่วนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกำจัดโดยง่าย และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างนวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ในกลุ่มไบโอพลาสติก ได้แก่ 

1) Bio Base คือ วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง 
2) Fiber Base คือ วัตถุดิบที่ทำมาจากไฟเบอร์หรือเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เส้นใยมากที่สุด รวมไปถึงกากใยจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ชานอ้อย ฟางข้าวสาลี ลินิน ไม้ไผ่ 
3) Biomass คือ วัตถุดิบที่ได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ เปลือกชานอ้อย กากปาล์ม ซังข้าวโพด 

โดยนำวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ผลิตเป็นไบโอพลาสติกเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้ในประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสการเติบโตของตลาดการส่งออกบรรจุภัณฑ์ในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากกระแสความตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อน ดังตัวอย่าง สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะทำให้สินค้าที่กระบวนการผลิตมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถูกเก็บภาษีนำเข้ามากขึ้น ดังนั้น การเริ่มปรับสัดส่วนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นผลดีทำให้การส่งออกบรรจุภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ttb analytics เสนอแนะผู้ประกอบการให้มุ่งเน้นผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและสามารถนำไปผลิตแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ส่วนอย่างสมดุลไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ Bio-Circular-Green Economy และยังสอดคล้องกับแนวคิด ESG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมมาภิบาล (Governance) เป็นที่ตั้ง ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์เติบโตได้อย่างยั่งยืน

แนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ ของ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS) ในปี 2567 ที่วางกลยุทธ์เร่งพัฒนาสินค้า  เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าห้างสรรพสินค้า  และการพัฒนาสินค้าตามกระแสการรักษ์โลก  เน้นบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ง่าย  เพื่อสร้างโอกาการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว