จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : CMAN บุกอินเดีย ศก. ใหญ่ท็อป5ของโลก สร้างการเติบโตแข็งแกร่ง-ยั่งยืน


23 มกราคม 2567
บมจ. เคมีแมน หรือ CMAN ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรท็อปเทนของโลก จับมือพันธมิตรบุกตลาดอินเดียเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก แหล่งเหมืองแร่สำคัญของโลก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 

รายงานพิเศษ CMAN.jpg

อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานของธนาคารโลก ปี 2022  ระบุศักยภาพของอินเดียในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น เป็นฐานดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของโลก โดยเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ไหลสู่อินเดีย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ FDI โลก ซึ่งจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนยังคงครองแชมป์อันดับ 1 และ 2 

ภาคการผลิต การลงทุน และการส่งออก ก็เติบโตได้ดี โดยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 7.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับ 10 ของโลก  ด้านการเป็นผู้นำการผลิตด้าน ICT โดยมีรายได้จากการส่งออก ICT Service อยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนอยู่อันดับ 3 และ 4  

ขณะที่วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลเศรษฐกิจของอินเดีย มีขนาดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกเมื่อวัดด้วยค่าจีดีพีและเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเทียบด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ  อินเดียเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเกิดใหม่โดยมีจำนวนประชากรมหาศาล เช่นเดียวกับทรัพยากรทางธรรมชาติและบุคลากรมืออาชีพมีทักษะที่เพิ่มมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้ทำนายว่าในปี พ.ศ. 2563  อินเดียจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก

ซึ่งการทำเหมืองแร่นับเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจอินเดีย  อินเดียสามารถผลิตแร่ธาตุได้มากถึง 79 ชนิด (ไม่รวมทรัพยากรเชื้อเพลิงและพลังงานปรมาณู) ในปี 2552-2553 ซึ่งรวมทั้งแร่เหล็ก, แมงกานีส, ไมกา, บอกไซต์, โครไมต์, หินปูน, แร่ใยหิน, ฟลูโอไรต์, ยิปซัม, ดิน ochre, ฟอสฟอไรต์, และทรายซิลิกา  

ความมีศักยภาพของอินเดีย  สนับสนุนการขยายธุรกิจของบมจ. เคมีแมน (CMAN) ผู้ผลิตปูนไลม์ครบวงจรระดับท็อปเทนของโลก ภายใต้แบรนด์ ‘CHEMEMAN’ โดยล่าสุดบริษัทได้ลงนามใน “ข้อตกลง Khimsar” กับ Khimsar Mine Corporation หรือ KMC ซึ่งเป็นบริษัทอินเดียที่ถือหุ้นโดย Mr. Dhananjai Singh และครอบครัว เพื่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ในเมือง Khimsar รัฐราชสถาน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรองมากกว่า 70% ของปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรอง ทั้งหมดในประเทศอินเดีย  

โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMAN “อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์” ระบุว่า การเป็นพันธมิตรระยะยาวกับ KMC ในการพัฒนาธุรกิจปูนไลม์ ความร่วมมือระหว่าง CMAN ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีประสบการณ์ด้านการขายและเชี่ยวชาญเทคนิคเชิงลึกในอุตสาหกรรมปูนไลม์ และ KMC ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่หินปูนและฐานลูกค้าในพื้นที่ จะสร้างจุดแข็งและข้อได้เปรียบให้ KMC บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ Mr. Dhananjai Singh และครอบครัว เป็นเจ้าของเหมืองหินปูนหลายแห่งใน Khimsar มีความต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ที่มีอยู่ และพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากการเป็นผู้จำหน่ายหินปูนไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย ภายใต้ข้อตกลง Khimsar ดังกล่าว ในช่วงแรก CMAN จะเข้าไปออกแบบโรงงานและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ควบคุมงานก่อสร้าง และการจัดหาซัพพลายเออร์สำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามกำหนด และช่วงหลังจากก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว CMAN จะเข้าไปดูแลด้านการขาย และบริหารจัดการเชิงเทคนิคให้กับโรงงานผลิตปูนไลม์แห่งใหม่นี้ต่อไป ทั้งนี้ ในเฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ที่มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และ KMC มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นมากกว่า 5 แสนตันต่อปี

ในอีก 20 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโต 6-8% ต่อปี ทำจะให้อุตสาหกรรมหลัก ทั้งเหล็กและเหล็กกล้า การก่อสร้าง น้ำตาล กระดาษ  และสารเคมีและเคมีต่อเนื่อง มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการปูนไลม์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญในการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตตามอย่างมาก