จิปาถะ
เตือนบาทผันผวนฝั่งอ่อนค่า หลังตลาดรอลุ้นผลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ กดดันคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด
26 มกราคม 2567
เตือนบาทผันผวนฝั่งอ่อนค่า หลังตลาดรอลุ้นผลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ กดดันคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.85 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.55-35.95 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
นายพูน กล่าวว่า โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.65-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หลังรายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ครั้งแรกนั้น ออกมาดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก (+3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดประเมินให้สูงสุด +2.5%) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มความคาดหวังว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว 5-6 ครั้ง ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังราคาทองคำยังคงสามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ได้สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ
นายพูน กล่าวว่า สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร
นายพูน กล่าวว่า สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจมีลักษณะแกว่งตัว sideways ในโซน 35.65-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวผันผวนที่มากขึ้นได้
โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมราว 49% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังสามารถทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟดได้พอสมควร หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวสูงขึ้น สวนทางกับที่ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
นายพูน กล่าวว่า ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงกว่าคาด และต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% (หากประเมินจากอัตราเงินเฟ้อราย 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน ก่อนทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา (เช่น ตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วและลึก) หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทในระยะสั้นจะยังเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์
“ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง”นายพูน กล่าว
ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4394703