Wealth Sharing
ก.ล.ต. ปรับปรุงลักษณะ ตั๋วเงินเข้าข่ายหลักทรัพย์ มีผลแล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 67
02 กุมภาพันธ์ 2567
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนในปัจจุบัน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ โดยกำหนดลักษณะตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ ให้หมายถึง ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเป็นผู้ออกตั๋วเงิน และให้ไว้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ซื้อเพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิตามตั๋วเงิน โดยมีการชักชวนหรือโฆษณาเกี่ยวกับการออกตั๋วเงิน และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนจากบุคคลทั่วไปเกินกว่า 10 ราย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง* ยกเว้นตั๋วเงินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ตั๋วเงินที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายทั้งจำนวน ผู้รับอาวัลผู้ออกตั๋วเงินทั้งจำนวน หรือผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ออกตั๋วเงินดังกล่าว
2. ตั๋วเงินที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว** ได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
หมายเหตุ:
*นับรวมกับบุคคลที่ถือตั๋วเงินทั้งหมดที่ออกโดยบริษัทและยังไม่มีการไถ่ถอน
**ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 5/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 6/2567 เรื่อง การยกเว้นการยื่นแบบแสดง รายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (ฉบับที่ 2)