เทศกาลวัน "ตรุษจีน" ปี 2567 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และชาวไทยเชื้อสายจีนต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง รวมไปถึงสิ่งใดควรทำ ให้ปี "มะโรง" เป็นปีที่เฮง ๆ สำหรับทุกคน
วันตรุษจีน 2567 เป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย คล้าย "วันสงกรานต์" ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนของไทยจะมีสิ่งที่ปฏิบัติกัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว แล้วปีนี้ตรงกับวันไหน ทำไม่แต่ละปีถึงไม่ตรงกัน รวมถึงมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ประวัติ "ตรุษจีน" ความสำคัญ - ความเชื่อ
"ตรุษจีน" ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทิน "จันทรคติจีน" โดยวันตรุษจีน ปี 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็น "วันเที่ยว" จุดกำเนิดของตรุษจีนนั้นมีประวัติมาหลายศตวรรษ มีชื่อเรียกหนึ่งว่า "เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ"
เทศกาลปีใหม่จีน "วันตรุษจีน" ไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดยจะอยู่ในช่วงปลายเดือน มกราคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนเริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ในปฏิทินจีนโบราณ และสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ เหตุนี้ "ตรุษจีน" จึงถือเป็นงานที่มีการเฉลิมฉลองที่สำคัญและยาวนานที่สุด การเฉลิมฉลองจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประเทศ ที่มีประชากรจีนอาศัยอยู่มาก ในที่นี้รวมถึงประเทศไทยด้วย
ในประเทศจีน มีธรรมเนียมและประเพณีที่หลากหลาย จะมีการซื้อของขวัญ ของประดับตกแต่ง ซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ มีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษ โดยเน้นไปที่สีแดงและสีทอง สื่อถึง โชคดี, ความสุข, ความมั่งคั่ง และชีวิตที่ยืนยาว นอกจากนี้ ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้าน เพื่อปัดกวาดโชคร้าย ด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา
ชาวจีนถือว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลรื่นเริงที่ไม่ว่าจะพูด ทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล มีการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บรรพบุรุษ และพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งปี
"เทศกาลตรุษจีน" หรือ "วันตรุษจีน"
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
• วันจ่าย ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันที่คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนต่างออกไปหาซื้ออาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ ตลอดจนของไหว้ต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการสักการะ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านและหยุดพักผ่อนยาว
• วันไหว้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ในวันนี้ทุกครอบครัวจะเริ่มทำพิธีไหว้ตรุษจีน 2567 โดยการนำของมาไหว้เทพเจ้า แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
- ตอนเช้ามืด จะเป็นการไหว้ "ป้ายเล่าเอี๊ย" ซึ่งถือเป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เครื่องไหว้ เครื่องไหว้ ประกอบไปด้วย เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ 5 อย่าง เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
- ตอนสาย จะเป็นการไหว้ "ป้ายแป๋บ้อ" คือ การไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน ซึ่งการไหว้ในครั้งนี้จะต้องไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย อาหารคาวหวาน โดยส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ รวมทั้งเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษ เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับอีกด้วย
- ตอนบ่าย จะเป็นไหว้ "ป้ายฮ่อเฮียตี๋" เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้ที่ใช้ประกอบพิธี จะเป็น ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้ง มีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
• วันเที่ยว หรือ วันถือ ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับวันนี้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่จีน เป็นวันที่ 1 ของเดือนที่ 1 ของปี โดยคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนจะพากันออกไปเที่ยว รวมถึงไปขอพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ ทั้งยังมีการนำ "ส้มสีทอง" มอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก ด้วยเหตุที่ว่า การให้ส้มสีทองนั้น สื่อความหมายถึง การมอบ "ความสุข" หรือ "โชคลาภ"
เหตุที่เรียกวันนี้ว่า "วันถือ" นั้นเพราะเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล ทุกคนจะพูดหรือทำแต่สิ่งที่ดี เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด ในวันนี้ชาวจีนจะไม่ทำงาน ไม่ทำสิ่งที่เหนื่อยยาก เพื่อให้เป็นเคล็ดว่าได้เริ่มปีใหม่ที่สุขสบาย
หลังจากการเฉลิมฉลอง เมื่อพบกันก็มักจะอวยพรกันด้วย คำว่า "ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้" แปลตรงตัวว่า เดือนใหม่มีสุข ปีใหม่เจริญรุ่งเรือง หมายความว่า ปีใหม่ขอให้มีความสุขความรุ่งเรือง ชาวจีนจะเขียนคำอวยพรนี้ในกระดาษสีแดง ซึ่งเป็นสีมงคล ติดไว้ที่หน้าบ้าน และผู้ใหญ่จะมอบเงินที่บรรจุในซองสีแดงแก่ลูกหลานเพื่อเป็นขวัญและสิริมงคล
เมื่อพบกันก็มักจะอวยพรกันด้วย คำว่า "ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้" และผู้ใหญ่จะมอบเงินที่บรรจุในซองสีแดง หรือ "อั่งเปา" แก่ลูกหลานเพื่อเป็นขวัญและสิริมงคล
คำว่า "อั่ง" เป็นภาษาจีน แปลว่า สีแดง ส่วนคำว่า "เปา" แปลว่า ซองหรือกระเป๋า อั่งเปา จึงหมายถึงซองสีแดงที่ไว้ใส่เงิน นำไปมอบเป็นการอวยพรในวันตรุษจีน
ของไหว้มงคล "วันตรุษจีน 2567"
ของคาว
• ไก่ หมายถึง ความขยันขันแข็ง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ลาภยศสรรเสริญ โดยต้องเป็นไก่เต็มตัว คือมีหัว ตัว ขา และปีก
• หมู เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หมายถึง มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
• เป็ด ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาดและบริสุทธิ์ ช่วยส่งเสริมในเรื่องความซื่อตรงและความก้าวหน้า เป็ดยังเป็นสัตว์ที่มีความสามารถหลากหลาย จึงช่วยเสริมในด้านหน้าที่การงานต่าง ๆ
• ปลา เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและโชคลาภ ช่วยเสริมสิริมงคล ให้เหลือกินเหลือใช้ มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี
• หอยเป๋าฮื้อ หมายถึง ความร่ำรวย ความมั่งคั่งมั่งมี เหลือกินเหลือใช้
• ปลาหมึกแห้ง มีความหมายคล้ายปลา คือเหลือกินเหลือใช้ ปลาหมึกยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีความรู้ จึงมักใช้เป็นเมนูอวยพรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอีกด้วย
• บะหมี่ หมายถึง อายุที่ยืนยาว และการมีสุขภาพดี โดยมีเคล็ดคือห้ามหั่นเส้นบะหมี่แต่จะใช้ตะเกียบคีบเส้นให้ยาวที่สุดแทน
ของหวาน
• ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ความราบรื่นในชีวิต และยังหมายถึงความสมบูรณ์ร่ำรวย
• ขนมเทียน สื่อถึงความเป็นมงคล ความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรือง ด้วยลักษณะของขนมเทียนที่เป็นกรวยแหลมคล้ายเจดีย์
• ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ความมีชื่อเสียงเพิ่มพูน ได้ลาภยศสรรเสริญ
• ขนมสาลี่ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนทรัพย์สิน
• ซาลาเปา หมายถึง ความโชคดี หรือการได้รับโชค
• จันอับ หมายถึง ปิ่นโต สื่อถึงความสุขที่เพิ่มพูน สุขกายสบายใจตลอดทั้งปี
ผลไม้
• ส้ม ต้องเลือกเป็นส้มสีทองอร่าม สื่อถึงความสวัสดิมงคล
• สาลี่ ให้เลือกเป็นสีทองเช่นกัน หมายถึงโชคลาภ เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภเงินทอง
• แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติ ความมีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง และยังเป็นสัญลักษณ์ของการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย
• สับปะรด เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกโชคลาภเข้ามาหาตลอดทั้งปี
• องุ่น นิยมเลือกเป็นองุ่นแดง หมายถึง ความเพิ่มพูน ความเจริญรุ่งเรือง
• ลูกพลับ หมายถึง ความมั่นคงและความแข็งแกร่ง
• ทับทิม หมายถึง ความกลมเกลียว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ข้อห้าม อย่าทำในวันตรุษจีน
ห้ามร้องไห้
คนจีนมีความเชื่อว่า หากร้องไห้หรือเสียใจในวันตรุษจีน จะต้องพบเจอกับเรื่องที่ทำให้เสียใจและเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
ห้ามซักผ้า
คนจีนมีความเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งน้ำเกิดในวันตรุษจีน หากซักผ้าจะถือเป็นการลบหลู่เทพเจ้าแห่งน้ำ ดังนั้น เตรียมซักผ้าก่อนถึงวันตรุษจีน หรือจะรวบรวมแล้วซักผ้าหลังพ้นวันตรุษจีนไปแล้วก็ได้ เชื่อไว้ไม่เสียหาย อาจจะเกิดแต่เรื่องดี
ห้ามทำของแตก
คนจีนยังมีความเชื่อว่าการทำของแตกในวันตรุษจีน ถือเป็นรางร้ายจะนำพาแต่ความแตกแยก หรือสูญเสียมาสู่คนในครอบครัว
ห้ามให้ใครยืมเงิน
เพราะคนจีนมีความเชื่อว่า อย่าให้ใครยืมเงินและอย่าพูดว่าไม่มีเงินให้ยืมในช่วงวันตรุษจีนเด็ดขาด เพราะถ้าให้ยืม ก็อาจจะถูกยืมไปตลอดทั้งปีเลย และหากมีหนี้สินก็ให้รีบใช้คืน หรือถยอยจ่าย เพื่อไม่ให้เครียดหรือต้องเป็นหนี้ไปตลอดทั้งปี
ห้ามทำความสะอาดบ้าน
ความเชื่อของคนจีนมีอยู่ว่า การทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้านในวันตรุษจีนจะเป็นการกวาดเอาโชคลาภ กวาดเอาเงินทองออกไปจากบ้าน ดังนั้น ถ้าจะทำความสะอาด แนะนำให้ทำล่วงหน้าก่อนถึงวันตรุษจีนจะดีกว่า
ห้ามใช้ของมีคม
เพราะคนจีนมีความเชื่อว่าการใช้ของมีคม ถือเป็นการตัด หั่น เลื่อยโชคลาภและความโชคดีออกไปจากชีวิตของเรา
ห้ามพูดสิ่งไม่ดี หรือทะเลาะมีปากเสียงกัน
คนจีนมีความเชื่อว่า การพูดคำหยาบคาย การพูดสิ่งไม่ดี สิ่งอัปมงคล รวมไปถึงการพูดโกหก และการทะเลาะวิวาท จะนำพาแต่เรื่องไม่ดี สิ่งแย่ ๆ เรื่องที่ทำให้ลำบากใจมาสู่ตัวเราไปตลอดทั้งปี เสมือนว่าพูดแล้วสมพรปากตามคำพูดของคนโบราณ
ทั้งนี้ข้อห้ามต่าง ๆ เป็นแค่ความเชื่อในเทศกาลตรุษจีน ความเชื่อนี้เพียงแค่อยากให้คนในครอบครัวมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และได้ใช้เวลากับครอบครัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ที่มา : https://www.thaipbs.or.th/news/content/336366