PANEL เตรียมขาย IPO เข้าตลาด mai ขยายกำลังการผลิต 4 เท่า รองรับออเดอร์โรงพยาบาลและโรงแรม อยู่ระหว่างก่อสร้างกว่า 3.6 แสนล้านบาท
หลังจบการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวและโรงพยาบาล กลับมาขยายตัวรุนแรง และเป็นโอกาสสำหรับบริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด(มหาชน) หรือ PANEL ผู้นำด้านประตูห้องผ่าตัดอัตโนมัติ ผนังบานเลื่อนห้องประชุมสำหรับโรงแรม สำนักงานและระบบทางเข้า-ออกอัจฉริยะ ที่เพิ่มกำลังการผลิตสินค้าภายในประเทศหลายเท่าตัว นอกเหนือจากเป็นผู้นำเข้า ประตูผ่าตัดระดับโลกจากสเปน
นางจูเลีย เพ็ชญไพศิษฎ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PANEL เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าธุรกิจเรามี 2 ส่วน
ธุรกิจแรกเกี่ยวกับโรงพยาบาล ห้องพิเศษ ห้องผ่าตัด ห้อง ICU CCU ห้องรังสีวิทยา ซึ่งห้องประเภทนี้ต้องการประตูพิเศษ ไม่ใช่แค่ประตูอะไรก็ได้ ประตูนี้ต้องเปิดแล้วปิดสนิท โดยเรานำเข้าจากสเปน แบรนด์ MANUSA มายาวนาน 24 ปี และติดตั้งในโรงพยาบาลชั้นนำของไทยเกือบทุกแห่ง
อีกธุรกิจคือ ผนังกันเสียง รวมถึงประตูกันเสียง ผนังกันเสียงเคลื่อนที่อัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและสำนักงาน สามารถเคลื่อนย้ายได้ ใช้สำหรับห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรมชั้นนำมากว่า 20 ปี รวมถึงให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร
“บริษัทเราทำงานประมาณ 30 กว่าปีแล้ว ซึ่งปลายปีที่แล้วโรงพยาบาลขึ้นเยอะมากและทางรัฐบาลเองก็ลงทุนเรื่องโรงพยาบาลเยอะมาก เราเชื่อว่าปีนี้และปีถัดๆ ไป โอกาสจะเป็นของเราและเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งเรามีทั้งโรงแรมและโรงพยาบาล ทำให้ที่มาของรายได้ค่อนข้างยั่งยืน ซึ่งทั้งโรงพยาบาลและโรงแรมมีสถานะที่ต่างกัน เมื่อเจอวิกฤต เจอโรคระบาด เรายังอยู่รอดได้ พิสูจน์ได้ว่า ในภาวะวิกฤตเรายังมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง” นางจูเลียกล่าว
ขณะเดียวกันช่วง 3-4 ปีก่อน ลูกค้าเริ่มหันมาให้เราผลิตเองที่นี่ จากเดิมที่เรานำเข้าทั้งประตูเครื่องอัตโนมัติทั้งระบบ ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องโควิด-19 ด้วย ทุกอย่างดีเลย์หมด แต่เค้ารอไม่ได้ จึงต้องให้เราผลิตเองในประเทศ เพื่อจะได้ส่งของได้ทัน เพราะประตูพวกนี้ต้องผลิตตามขนาดโครงการ ไม่สามารถผลิตมาเก็บไว้ได้ ยกเว้นพวกอุปกรณ์อัตโนมัติ และราคาที่ผลิตในประเทศเองก็จะถูกกว่านำเข้าด้วยส่วนเรื่องคุณภาพ ลูกค้าจะมาดูงานก่อนที่จะตัดสินใจสั่งผลิต
ทั้งนี้จากรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ที่วิเคราะห์เรื่องงานก่อสร้างในประเทศพบว่า โรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 810 โคงการ มูลค่าก่อสร้าง 1.6 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 15% เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นศุนย์กลางทางการแพทย์ ที่มีความสามารถด้านสาธารณสุขอันดับ 6 ของโลกและหลังโควิด-19 รัฐบาลลงทุนด้านโรงพยาบาลมากขึ้น เราประเมินว่า มีดีมานด์อยู่มาก มีอัตราการเติบโตที่สูง แต่ปัญหาในอดีตคือ กำลังการผลิตของโรงงานไม่พอกับความต้องการได้ บางรายการทำไม่ทัน ต้องขอผ่านไปเลย
ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาปีที่แล้วมี 23 ล้านคน ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของโรงแรม ทั้งการก่อสร้างโรงแรมใหม่ การรีโนเวทโรงแรมกลับมา โดยประเมินมูลค่างานโรงแรม 270 โครงการ มูลค่า 2 แสนล้านบาท
ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนที่จะระดมทุน เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในไตรมาสแรกปีนี้ โดยจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์ หุ้นละ 0.50 บาท) โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนขยายโรงงานและเครื่องจักร 140 ล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ที่นำมาซื้อที่ดินเพื่อขยายโรงงาน 30 ล้านบาท ที่เหลือจะใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัท
สำหรับผลการดำเนินงานบริษัท เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีรายได้รวม 88 ล้านบาทและ 70 ล้านบาทในปี 2564 ลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด และปี 2565 มีรายได้รวม 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 17 ล้านบาท และ 11 ล้านบาทในปี 2564 ลดลงจากโควิด-19 และมีกำไรสุทธิ 16 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้น 45% โดยในช่วงปี 2563 - 2565 บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 40% และยังคงรักษาอัตรากำไรสุทธิประมาณ 15 % -19 %
ส่วนงวด 9 เดือน สิ้นสุด 30 กันยายนปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 90.5 ล้านบาท เติบโต 59% และมีกำไรสุทธิ 10.4 ล้านบาท เติบโต 333% จากช่วง 9 เดือนแรกปีก่อนที่มีรายได้รวม 57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.4 ล้านบาท ขณะที่อัตราหนี้สินต่อทุนเพียง 0.6 เท่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า
ที่มา : https://www.thansettakij.com/pr-news/social-biz/587844