จิปาถะ

“ธรรมนัส” สั่งสแกน 77 จังหวัด เก็บค่าเช่า รร.-รีสอร์ท บนที่ ส.ป.ก.


08 กุมภาพันธ์ 2567

“ธรรมนัส” สั่งสแกน 77 จังหวัด พื้นที่จังหวัดไหน มีโรงแรม-รีสอร์ท รุกที่ ส.ป.ก.ให้เก็บค่าเช่า นำเงินเข้ากองทุนฯ “อุบลศักดิ์”หวั่นทำผิดกฎหมาย ยกเว้นก่อสร้างก่อน ปี 2537 ประกาศกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน วงในชี้เลียน “พะเยา โมเดล” จับตาค่าเช่าสูงสุดไม่เกินไร่ละ 600 บาทต่อปี

“ธรรมนัส” สั่งสแกน 77 จังหวัด copy.jpg

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติดความคืบหน้านโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่จะมีการเก็บค่าเช่าที่ดินจากผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ในการทำธุรกิจมาก่อนหน้านี้ แทนการรื้อถอน เพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้เข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และในฐานะกรรมการ ในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมการ (คปก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ประชุม คปก. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ชูจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบเพื่อดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจากการตรวจสอบแปลงที่ดิน พบว่ามีโรงแรม 71 แห่ง คอนโดมิเนียม 5 แห่ง อพาร์ทเม้นท์ 7 แห่ง ทาวน์โฮม 1 แห่ง บ้านพัก/บ้านเช่า/บังกะโลตากอากาศ 13 แห่งซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ ส.ป.ก.จังหวัด ได้ทำการสแกนพื้นที่ทั้งหมดว่าบนพื้นที่ ส.ป.ก.มีที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างอะไรบ้าง เพื่อนำมาพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไร โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าเช่า เพราะในกฎหมายไม่มีบัญญัติไว้ หวั่นจะทำผิดกฎหมายเสียเอง

ทั้งนี้ต้องนำมาพิจารณาก่อนว่า สิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นก่อนหรือหลังประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินปี 2537 หากเกิดก่อนและโอนที่ดินมาให้ ส.ป.ก. เจ้าของเดิม ได้มีการอนุญาตหรือไม่ ส่วนกรณีมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นหลังมีประกาศ ก็ต้องไปดูว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือ คปจ. จังหวัดนั้น ได้มีการอนุญาตหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาจากหลักฐานโดยจะต้องใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐาน

อาทิ ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมการ (คปก.) เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด ตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2563 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องอยู่ใน 12 ข้อเท่านั้น เช่น ร้านขายรถแทร็กเตอร์ , เปิดสถานีบริการนํ้ามัน ทำที่พักอาศัย เป็นต้น

สอดคล้องกับนายเด่นณรงค์ ธรรมา ผู้แทนเกษตรกรใน คปก. กล่าวว่า โครงการในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดพะเยา ตาม “พะเยา โมเดล”  หรือ “ธรรมนัสโมเดล” ในรัฐบาลที่แล้วที่ร้อยเอกธรรมนัส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารายได้เข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  เมื่อทำสำเร็จ ก็เลยเป็นผลพวงขยายทั้งประเทศ ทั้งนี้ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอดูผลการประชุมครั้งต่อไปที่แต่ละจังหวัดจะรายงานอีกครั้งตามที่รัฐมนตรีได้สั่งการ

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ส.ป.ก. กล่าวว่า ปัจจุบันที่ดินที่ ส.ป.ก.อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม คือ กรณีที่1ที่ดินที่เช่ามีเนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ ให้คิดค่าเช่าในอัตราไร่ละ 100 บาทต่อปี  กรณีที่ 2 ที่ดินที่เช่ามีเนื้อที่เกินกว่า  15 ไร่ ที่นอกจากคิดค่าเช่าตามกรณีที่1 แล้ว ให้คิดค่าเช่าสำหรับที่ดินส่วนที่เกินในอัตราร้อยละ 0.1 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์ (กราฟิกประกอบ) ในปีที่จัดทำสัญญาเช่า โดยให้คิดค่าเช่าขั้นต่ำไร่ละ 100 บาทต่อปีและค่าเช่าขั้นสูงไม่เกินไร่ละ 600 บาทต่อปี หรือกรณีคำนวณค่าเช่ามีเศษของบาทให้ปัดขึ้นเป็นหนึ่งบาท  ส่วนของ คปก.จะนำมาใช้อัตรานี้หรือไม่ต้องติดตาม

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,964 วันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/587920