จิปาถะ

พิษดอกเบี้ย ที่ดินแพง ราคาบ้านกทม.-ปริมณฑลพุ่งขึ้น 24% ปีนี้จ่อขยับอีก 5-10%


09 กุมภาพันธ์ 2567

พิษดอกเบี้ย ที่ดินแพง.jpg

พิษดอกเบี้ย ที่ดินแพง ราคาบ้านกทม.-ปริมณฑลพุ่งขึ้น 24% ปีนี้จ่อขยับอีก 5-10%


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าภาพรวมที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2566 ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.49 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2565 โดยมีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 437 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 544,265 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 11% และ 18% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งการเปิดตัวใหม่ 99,012 หน่วย ลดลง 4% มีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวโครงการอยู่ที่ 17% ของมูลค่าโครงการที่เปิดตัว

“จำนวนหน่วยเปิดตัวปี 2566 ลดลง เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยในปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผนวกกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการราคาที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัวที่ลดลง” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า จากการเปิดตัวโครงการจำนวนมากในปี 2566 ทำให้มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยคงค้างในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล (Inventory) ณ สิ้นปี 2566 ประเภทบ้านพักอาศัยจำนวน 145,634 หน่วย เพิ่มขึ้น 12.6% ในขณะที่คอนโดมิเนียมมีหน่วยคงค้าง 84,200 หน่วย ลดลง 1.7% โดยจำนวนหน่วยคงค้างดังกล่าวทำให้บ้านพักอาศัยต้องใช้ระยะเวลาในการขายประมาณ 4-5 ปีและกลุ่มคอนโดมิเนียม ใช้เวลาในการขายประมาณ 1-2 ปี

“คาดการณ์จำนวนและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศ มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 1.06-1.08 ล้านล้านบาท หรือ ทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 1-2% โดยราคาเฉลี่ยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 2.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.99 %” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว ทั้งนี้ราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวในปี 2566 ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาเฉลี่ยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มว่าราคาเฉลี่ยในการโอนกรรมสิทธิ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 ที่ต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

และปัจจัยดังกล่าว รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในปี 2567 ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยในปี 2567 ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ที่ราคาที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าและในทำเลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งที่ดินในทำเลดังกล่าว มีจำนวนจำกัด ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อราคาที่อยู่อาศัยในปี 2567 ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4416768