จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : กสิกรคาดตลาด Food Delivery ปี 67 แตะ8.6หมื่นลบ. หนุนยอดขายบรรจุภัณฑ์ TPLAS ปี 67 โตแกร่ง


15 กุมภาพันธ์ 2567
รายงานพิเศษ กสิกรคาดตลาด Food Delivery ปี 67 แตะ 8.6 หมื.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปี67 มูลค่าตลาด Food Delivery  อยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท  แม้เทรนด์การสั่งอาหาร Food Delivery มีทิศทางชะลอลง แต่ช่องทางนี้ยังสำคัญ  หนุนยอดขายบรรจุภัณฑ์ TPLAS ปีนี้โตแกร่ง 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง  ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเพิ่มเติมว่า แม้เทรนด์การสั่งอาหาร Food Delivery จะมีทิศทางที่ชะลอลง แต่ช่องทางนี้ยังสำคัญ เนื่องจากยังมีผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างเวลาเร่งด่วน หรือ Work from Home เป็นตัน

นอกจากนี้ ช่องทางนี้ก็มีความสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จาก Food Delivery สูงกว่าการให้บริการหน้าร้าน เช่น ร้านอาหารข้างทาง และร้านอาหารในกลุ่มฟาสต์ฟู้ด

ธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เติบโตได้ดี ส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ บมจ. ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS)  ในฐานะผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ได้แก่

1. ถุงบรรจุอาหารประเภท Polypropylene ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “หมากรุก”
2. ถุงบรรจุอาหารและถุงหูหิ้วประเภท High Density Polyethylene ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “หมากรุก”
3. ฟิล์มถนอมอาหาร Polyvinyl Chloride ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “Vow Wrap”
4. บรรจุภัณฑ์กระดาษ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “BEAT BOX”

ซึ่ง “อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์” รองกรรมการผู้จัดการ TPLAS ระบุ ปี 67 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% หลังจากที่ผลงานของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา  ด้วยการเพิ่มสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร (Food Packaging) มากขึ้น แต่ยังคงเป็นพลาสติกและกระดาษ เจาะกลุ่มลูกค้าที่เปิดร้านออนไลน์-เดลิเวอรี่ที่ไม่มีหน้าร้าน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีการซื้อสินค้าหรืออาหารผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

โดยกลยุทธ์ในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขายสินค้าภายในประเทศ ผ่านการทำแคมเปญการตลาด และขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เพิ่มกลุ่มสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าร้านอาหารมากขึ้น ควบคู่ไปกับการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายทีมมาร์เก็ตติ้ง และทีมขาย เพื่อรองรับการทำการตลาดและกระตุ้นยอดขายทั้งในและต่างประเทศ ตามแผนงานที่วางไว้ อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการแตกไลน์ธุรกิจ เพื่อสร้าง New S-Curve สนับสนุนธุรกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับการแข่งขันด้านราคาในปีนี้คาดว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากโครงสร้างตลาดและจำนวนผู้เล่นในตลาดมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงคราม ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
          
ขณะเดียวกันในปีนี้คาดว่าจะมีความผันผวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งจากเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงงาน กระทบกับบริษัทฯเล็กน้อย เนื่องจากมีการปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด