“จะเริ่มวางแผนยังไงดี?” “เพราะการแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน แต่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย และเพื่อครอบครัวของเราในอนาคตด้วย”
เมื่อคู่รักทั้งสองคนได้ตกลงปลงใจในการแต่งงานกันแล้ว หลายคนไม่ได้มีการวางแผนเรื่องเงินเก็บเพื่อสานฝันในวันแต่งงาน จึงหยิบยืมเงินมาจากคนอื่น ๆ ทำให้เกิดหนี้สินตามมา กลายเป็นความทุกข์ยากหลังวันแห่งความสุขของคู่บ่าวสาว มีหลายคู่ที่ต้องทำงานใช้หนี้งานแต่งงานกันไปอีกหลายปี การวางแผนออมเงินเพื่อการแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่คู่รักทุกคู่ควรเตรียมพร้อม เพื่อความสุขสมบูรณ์แบบครั้งหนึ่งในชีวิตคู่
“5 Steps พิชิตงานแต่งในฝัน”
1.ปักธงกำหนดวันแต่งงาน
เพื่อแสดงคำมั่นสัญญาแห่งรักของทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญยังช่วยให้เกิดความชัดเจนของเป้าหมายและระยะเวลาวางแผนออมเงินสำหรับงานแต่งงาน โดยสามารถกำหนดคร่าว ๆ ว่าจะแต่งงานกันใน อีก 2 ปี หรือ 3 ปีข้างหน้า เป็นต้น
2.สำรวจค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ด้วยการประเมินรายละเอียดค่าใช้จ่ายว่าจะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับอะไรบ้าง เช่น สินสอด แหวนหมั้น ชุดแต่งงาน ขบวนแห่ขันหมาก การจัดงานเลี้ยง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งควรหาข้อมูลราคาจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบและพิจารณาทางเลือกที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในงานแต่งงานด้วย ในขั้นตอนนี้คู่รักจะต้องช่วยกันตัดสินใจกำหนดงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อจัดสรรเงินได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นรายการค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ซึ่งไม่ว่าจะจัดในกรุงเทพฯ หรือในเขตเมืองใหญ่ ๆ ก็ต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทขึ้นไปสำหรับงานแต่งงานในโรงแรม ร้านอาหาร สมาคม หรือสโมสร แต่ถ้าจัดในต่างจังหวัดแบบประหยัด ๆ เลี้ยงเฉพาะในหมู่ญาติสนิท อย่างน้อยก็ต้องเตรียมเงินไว้ 50,000 บาทขึ้นไป โดยที่ยังไม่รวมค่าสินสอดทองหมั้น แหวนแต่งงานของคู่บ่าวสาวอีกด้วย
3.เดินหน้าเก็บเงินเพื่อการแต่งงาน
พอรู้เป้าหมาย ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็อย่ามัวรอช้า เริ่มเก็บเงินได้เลย โดยแบ่งออมเงินแบบรายเดือน เช่น เป้าหมายเก็บเงินสำหรับแต่งงานจำนวน 500,000 บาท ภายในเวลา 3 ปี หรือ 36 เดือน ก็ต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละประมาณ 14,000 บาท และตกลงร่วมกันว่าจะช่วยกันออกในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น คนละครึ่งหนึ่ง คิดเป็นเดือนละ 7,000 บาท และอาจเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในงานแต่งงานเพิ่มด้วย
สำหรับคู่รักที่อยากลดภาระการเก็บเงินต่อเดือนและสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง อาจลองศึกษาทางเลือกการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมประเมินภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนให้รอบคอบ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าเกิดความผิดพลาด ก็อาจจัดงานแต่งงานในฝันไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้
4.ใช้เงินตามแผนที่กำหนด
อย่าเพิ่มสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายได้ และก็ไม่ควรจะประหยัดจนเกินไป เพราะจะทำให้งานแต่งงานในฝันออกมาไม่ประทับใจตามที่คาดหวังไว้ หลังเสร็จสิ้นงานแต่งงานแล้วลองคำนวณดูว่า มีเงินเหลือเท่าไหร่ ก็นำเงินก้อนนั้นมาเป็นเงินกองกลางของครอบครัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ต่อไป
5.เริ่มวางแผนการเงินของครอบครัวด้านอื่น ๆ
สำหรับคู่รักที่กำลังจะสร้างครอบครัวร่วมกัน การวางแผนเก็บเงินแต่งงานไม่ใช่เพียงเป้าหมายการเงินเดียวแน่ ๆ ดังนั้น จึงต้องรีบคุยกันและลองคิดถึงเป้าหมายอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงิน เพื่อวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทริปฮันนีมูน จำนวนบุตรที่ต้องการ ค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ หรือแม้แต่การพูดคุยปรึกษากันเรื่องการบริหารเงินภายในครอบครัว
การแต่งงานเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ใคร ๆ ก็อยากให้เป็นความทรงจำที่ดีที่สุด ความมุ่งมั่นตั้งใจและความมีวินัยของคู่รักที่ร่วมกันสร้างเนื้อสร้างตัวตั้งแต่ด่านแรกของชีวิตคู่นี้ จะช่วยสานฝันให้เป็นจริงได้อย่างแน่นอน
ที่มา : https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/wedding