ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน รู้จัก “สิทธิของผู้ถือหุ้น”เพื่อปกป้องตนเองในฐานะผู้ลงทุน : บทความโดย ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน หรือ “หุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง เพื่อแลกกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการเป็น “เจ้าของร่วมในกิจการ” มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ตนเองจากการลงทุนในหุ้นได้ และมีอีกหลายคนที่ต้องผิดหวังจากการลงทุนในหุ้นเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ หรืออาจก้าวเข้ามาในตลาดหุ้นเพียงเพราะคำเชิญชวนที่ชี้ให้เห็นแต่เพียงข้อดีเท่านั้น หรือแม้กระทั่งอาจเป็นเพราะเห็นตัวอย่าง ความสำเร็จจากการลงทุนของใครหลายคน โดยที่ยังไม่รู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้นได้นั้น มักมีการเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุนโดยเฉพาะในด้านของความรู้และมีการใช้สิทธิและรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองในฐานะผู้ลงทุนหรือ “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะก่อให้เกิดศักยภาพในด้านการลงทุนที่ดีกว่าตามไปด้วยนั่นเอง
สิทธิของผู้ถือหุ้นนั้นมีตั้งแต่ต้นน้ำ (ก่อนลงทุน) กลางน้ำ (ตัดสินใจลงทุน) จนถึงปลายน้ำ (การเป็นผู้ถือหุ้น) ดังนั้นผู้ลงทุนจึงพึงใช้สิทธิของตนเองทีมีอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยสิทธิของผู้ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้น มีดังนี้
1. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องของบริษัทที่สนใจลงทุนอย่างครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน ในช่วงเวลาก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในกิจการที่สนใจ ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ในการใช้สิทธิในด้านของการรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยสามารถศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลของกิจการทั้งหมดอย่างละเอียด อาทิ การดำเนินธุรกิจหรือนโยบายของบริษัท (ทำอะไร) กรรมการและผู้บริหารบริษัท (เป็นใคร) ประวัติ ชื่อเสียง และผลงานที่ผ่านมา (เป็นอย่างไร) ฐานะการเงิน (มั่นคงแข็งแรงไหม) ผลการดำเนินงาน (ทำกำไรได้ดีหรือไม่) ความเสี่ยง และแนวโน้มธุรกิจ รวมถึงมุมมอง-วิสัยทัศน์ ในด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาลกับผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ(เป็น
อย่างไร)ฯลฯ ผ่านการศึกษารายละเอียดที่ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน สำหรับกรณีการซื้อหุ้น IPO (Initial Public Offering) หรือ ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็สามารถติดตามได้จากแบบรายงานประจำปี “56-1 One Report” หรือ ข้อมูลกิจการที่มีการเปิดเผยผ่านระบบสารสนเทศ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
เช่น รายงานผลการใช้เงินจากการเพิ่มทุน งบการเงินรายไตรมาส งบการเงินประจำปี การวิเคราะห์และคำอธิบายระหว่างกาลของฝ่ายจัดการ (Interim MD&A) เป็นต้น หรือข้อมูลเชิงลึกจากบทวิเคราะห์โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ตลอดจนการเข้าร่วม Opportunity Day ที่บริษัทจดทะเบียนจะมีการพบปะกับผู้ลงทุน ซึ่งการใช้ข้อมูลกิจการที่ได้มีการเปิดเผยไว้ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. เหล่านี้อย่างเต็มที่จะช่วยให้เราสามารถค้นพบบริษัทจดทะเบียนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราได้อย่างเหมาะสม
2. สิทธิในการมีส่วนร่วมบริหารกิจการในฐานะของผู้ถือหุ้นผ่านการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญของการบริหารกิจการของบริษัทจดทะเบียน คือการตัดสินใจหรือลงมติร่วมกันผ่านวาระการประชุมผู้ถือหุ้น อาทิ การพิจารณาอนุมัติงบการเงินประจำปี การพิจารณาอนุมัติการจัดสรรเงินกำไรสุทธิและการจ่ายเงินปันผล การพิจารณาแต่งตั้งกรรมการและการพิจารณาค่าตอบแทนของคณะกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและการพิจารณาค่าสอบบัญชี ในการประชุมสามัญประจำปี การพิจารณาเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่คณะกรรมการได้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญ เช่น การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การควบรวมบริษัท เป็นต้น ซึ่งผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิในการเข้าร่วมประชุม และออกเสียงลงมติ (เห็นด้วย / ไม่เห็นด้วย / งดออกเสียง / ออกเสียงคัดค้าน (veto) ในบางวาระ เช่นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาต่ำ เป็นต้น) รวมถึงใช้สิทธิในการเสนอให้บรรจุเรื่องที่ต้องการให้ที่ประชุมพิจารณา เป็นวาระการประชุมผู้ถือหุ้นได้1เพื่อร่วมกำหนดทิศทางกิจการที่ตนเองนั้นเป็นเจ้าของร่วมด้วย
3. สิทธิในการติดตามการทำหน้าที่ของกรรมการและการบริหารงานของผู้บริหารบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนและกิจการในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อดูว่าได้มีการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามบทบาทและ
ความรับผิดชอบในฐานะกรรมการและผู้บริหารบริษัทแล้วหรือไม่ โดยติดตามได้จากการให้ความเห็นหรือการพิจารณาอนุมัติของกรรมการหรือผู้บริหารในวาระที่สำคัญที่เปิดเผยผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทหรือตลาดหลักทรัพย์ หรือข้อมูลเปิดเผยต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ความเห็นผู้สอบบัญชีจากรายงานทางการเงิน เป็นต้น โดยหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์บริษัท (Investor Relations) ได้อย่างสม่ำเสมอ และในกรณีที่เห็นความไม่ชอบมาพากล ก็สามารถอาศัยกลไกและช่องทางต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ใช้สิทธิผ่านการประชุมสามัญประจำปี เพื่อซักถามข้อสงสัยจากกรรมการและผู้บริหารในประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงได้ตามแนวทางเดียวกันกับข้อ 2
4. สิทธิในการร้องเรียนหรือฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หากผู้ถือหุ้นพบว่ากรรมการหรือผู้บริหารบริษัทมีการกระทำอันไม่เหมาะสม ขาดความระมัดระวังและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ละเมิดสิทธิของผู้ถือหุ้น หรือละเมิดกฎหมาย ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการ
(1) ร้องเรียนไปยังบริษัท (หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นกลาง) เพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อยับยั้งและแก้ไขความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากกรรมการหรือผู้บริหาร (2) ร้องเรียนไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อแจ้งเบาะแสและข้อมูลสำคัญสำหรับการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือ ฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกให้กรรมการหรือผู้บริหารที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดทุกราย ชดใช้ค่าเสียหายหรือผลประโยชน์คืนให้แก่บริษัทได้ ซึ่งในปัจจุบันผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิร่วมกันภายใต้สถานการณ์แบบเดียวกันในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งมีโจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบ และนายความเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มในการดำเนินคดีในศาล รวมถึงมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกในกลุ่มด้วย ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายโดยรวมได้
จะเห็นได้ว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่กล่าวมานั้น เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถรู้เท่าทัน ตัดสินใจได้ถูกต้อง บรรลุเจตนารมณ์ในการเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทจดะเบียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถใช้สิทธิที่มีนั้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการร่วมตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ตลอดจนปกป้องสิทธิและรักษาผลประโยชน์ให้แก่บริษัท และถึงแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ก็ไม่ควรละทิ้งสิทธิที่เรามีอยู่นี้ จึงจะถือว่าเป็นผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพแล้วนั่นเอง
ที่มา : https://www.thansettakij.com/finance/stockmarket/588936