จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในส่วนการซื้อขายหุ้นกลุ่มแบงก์ ภายหลังจากที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ประกาศจ่ายปันผลครึ่งปีหลังถึง 7.84 บ./หุ้น ส่งผลให้ทั้งปี SCB จ่ายปันผลสูงถึง 10.34 บ./หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งกลุ่ม และเมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น จากระดับ 1,759,989.40 ล้านบาท เป็น 1,798,273.94 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 38,284.54 ล้านบาท โดยหุ้นSCB เป็นแชมป์ที่มีมาร์เก็ตแคปพุ่งมากสุดที่ระดับ 23,569 ล้านบาท
ขณะที่บล.บัวหลวง จำกัด(มหาชน) ประเมินว่า SCB เด้งแรง หลังประกาศปันผลสูงกว่าคาด โดยเป็นการขยับ Payout ratio (DPR) ขึ้นไปถึง 80% ส่งเป็นประเด็นบวกใหม่ให้กลุ่มธนาคารเด้งขึ้นมายกแผง เพราะมีความคาดหวังว่าในช่วงระหว่างประกาศปันผลใน 1 สัปดาห์จากนี้ มีความหวังต่อการได้ Div. yields ที่สูงขึ้น (จากเดิม 3-4% อาจขยับไปได้ 5-6%)
. BLS ประเมินว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเพิ่ม ROE ในระยะยาว ที่เราสังเกตุว่าที่ผ่านมาหลายธนาคารใหญ่ (BBL KBANK SCB KTB) ก็มีการพูดถึงกลยุทธ์นี้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการ คือ การเพิ่ม DPR (ส่วนตัวหารจะลดลง)
. โดยภาพรวมประเด็นนี้ เรามองด้านบวกเป็น 2 ระยะ คือ 1) การเก็งกำไรระยะสั้น จากการขยับ DPR แล้ว Yields มากกว่าคาด ราคาหุ้นจะเด้งรับข่าวบวกช็อตแรก (เหมือนมี Sector rotation) และ 2) ระยะยาว หากเพิ่ม ROE กลับไปได้ และเห็น Momentum การปรับขึ้นที่ต่อเนื่อง ก็จะมีผลต่อมุมมองนักลงทุนต่างชาติ ที่มีการเปรียบเทียบกับแบงค์ ตปท. มีโอกาสเห็นแรงซื้อ และ Re-rate valuation แบงก์ไทย และหากเห็นภาพนี้ หุ้นแบงก์จะเล่นเป็นขาขึ้นได้ต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา นลท. ต่างชาติลดสัดส่วนการถือหุ้นกลุ่มธนาคารไปมากแล้ว เหลือราว 41% (ค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ราว 50%) ซึ่งเมื่อวานเราก็เห็นเป็น Net Buy พร้อมการขึ้นของกลุ่มธนาคาร
. ส่วนมองเป็นรายตัวของธนาคารที่ยังไม่ประกาศ หากมองบน Sensitivity Analysis สมมติฐาน DPR กลับไปที่ระดับก่อนโควิด-19 จนถึง DPR ที่ 50% จะทำให้ Div. yields จะขึ้นไป BBL (4-6%) KBANK (4-6%) KTB (6-8%, จ่ายปีละครั้ง)