Wealth Sharing

วิจัยกรุงศรีลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% คาดกนง.ลดดอกเบี้ยปีนี้ 2 ครั้งๆละ 0.25%


23 กุมภาพันธ์ 2567
ธนาคารกรุงศรีปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือโต2.7% จากเดิมที่คาดโต 3.4%  ผลจากปี 66 เศรษฐกิจไทยโตเพียง 1.9% ส่วนเงินเฟ้อลดต่ำเหลือโตเพียง 1.1% หนุนกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่กลางปี 2 ครั้งๆละ 0.25%  

วิจัยกรุงศรีลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้เหลือ.jpg

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ  หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรี  กล่าวว่า ธนาคารปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.7% จากเดือนธันวาคมที่คาดโต 3.4% แต่เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับ 2566 ที่เติบโต 1.9%  จากแรงส่ง  1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนภาครัฐ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปีนี้ 

2.การบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1%  ตามการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายของรัฐที่ช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ  3. การใช้จ่ายภาครัฐที่จะมีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 หลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายวงเงิน 3.48ล้านบาท ได้รับการอนุมัติ  ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ2.4% ตามลำดับ  และ 4. การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะ 3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ  ส่วนการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.5%  ดีขึ้นจากปีก่อนที่หดตัว 1.7% 

ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังต่ำกว่าระดับ 3%  ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ น่าจะอยู่ระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้ง  0.25%  ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป 

“โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดัน ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม”

ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนปีนี้คาดว่า อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวประมาณ 4.2% โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ กอปรกับการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยตามการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง และแรงกดดันจากสภาวะทางการเงินตึงตัวที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

อย่างไรก็ตามความท้าทายต่อเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคผ่านช่องทางทั้งภาคการเงินและการค้า นอกจากนี้ นโยบายการคลังจะทวีความสำคัญมากขึ้น  เพื่อรองรับความท้าทายด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น สำหรับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน อาจทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงกลางปี 2567