Wealth Sharing

WHA Group ทุบสถิติใหม่ กำไรสุทธิ 66 แตะ 4,426 ลบ.


27 กุมภาพันธ์ 2567
บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA Group) ประกาศท็อปฟอร์มต่อเนื่อง หลังผลการดำเนินงานงวดปี 2566 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 17,015 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% (Y-Y) แบ่งเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 17,003 ล้านบาท ขณะที่กำไรปกติ 4,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% (Y-Y) ทุบสถิติรอบใหม่ สร้างออลไทม์ไฮเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดบอร์ดเคาะจ่ายปันผลรวมทั้งปี หุ้นละ 0.1839 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 10% (Y-Y) จ่อขึ้น XD วันที่ 9 พ.ค. 67 กำหนดจ่ายเงินปันผล 24 พ.ค.นี้ ด้าน Group CEO “จรีพร จารุกรสกุล” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ พร้อมอัดงบลงทุน 4 กลุ่มธุรกิจ ใน 5 ปี (2567-2571) ที่ระดับ 78,700 ล้านบาท 

WHA Group ทุบสถิติใหม่.jpg

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2566 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น 17,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และ 4,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ตามลำดับ หากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 17,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และกำไรปกติ 4,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% โดยผลการดำเนินงานที่การปรับตัวในครั้งนี้เป็นการสร้างสถิติการทำกำไรครั้งใหม่ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของทั้งกลุ่มโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และไฟฟ้า 

ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.1839 บาท เพิ่มขึ้น 10% (Y-Y) โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0669 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.1170 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยกำหนดเริ่มขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “WHA Group” เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 ถือว่าเป็นทุบสถิติใหม่สร้างออลไทม์ไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม 

ธุรกิจโลจิสติกส์  มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จาก ณ สิ้นปี 2566 มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 241,845 ตารางเมตร และมีการเซ็นสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 149,667 ตารางเมตร ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,944,522 ตารางเมตร โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) อยู่ที่ร้อยละ 85.8 ส่งผลให้ไตรมาส 4 และ ปี 2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 314 ล้านบาท และ 1,112 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 บนเนื้อที่ดิน 400 ไร่  

หลังจากที่เฟส 1 ได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าหลายอุตสาหกรรม อาทิ ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์/อาหารสัตว์เลี้ยง ที่ได้ลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ประมาณ 46,200 ตารางเมตร และ กลุ่มผู้ให้บริการ

โลจิสติกส์ครบวงจรที่ได้ลงนามในสัญญาเช่าเป็นพื้นที่รวมกันกว่า 118,000 ตารางเมตร เป็นต้น โดยขณะนี้พื้นที่โครงการเฟส 1 มีลูกค้าที่แสดงความสนใจและเช่าพื้นที่คลังสินค้าเต็มพื้นที่แล้ว ประกอบกับดีมานด์ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเร่งพัฒนา เฟส 2 เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันก็มีลูกค้าเช่าและให้ความสนใจจองพื้นที่อาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เฟส 2 แล้ว อาทิ ผู้จัดหาชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่ได้เช่าพื้นที่ 13,000 ตารางเมตร และ ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์/อาหารสัตว์เลี้ยงราวที่มีความต้องการเช่าพื้นที่กว่า 11,000 ตารางเมตร เป็นต้น

 ส่วนโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ กม. 23 (ขาเข้า) บนพื้นที่ให้เช่า 46,000 ตารางเมตร โดยมีลูกค้ารายแรก ได้แก่ บริษัท ไดนาแพค โรด อีควิปเม้นท์ (ประเทศไทย) และขณะนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าที่มีศักยภาพหลายราย อาทิ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำ ซึ่งคาดว่าจะทยอยลงนามในสัญญาเช่าได้ภายในปี 2567 นี้ และจากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้า/โรงงานคุณภาพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเร่งแผนพัฒนาโครงการใหม่บนที่ดิน 300 - 400 ไร่ บนทำเลยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ 

WHA Group ยังมุ่งมั่นพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานที่ทันสมัย ปัจจุบันมีโครงการอาคารสำนักงานให้เช่า 5 แห่ง พื้นที่รวมมากกว่า 120,000 ตารางเมตร โดยมีโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการ Quant Sukhumvit 25 ย่านสุขุมวิท-อโศก พื้นที่ 9,900 ตารางเมตร โครงการอาคารแบบ Mixed Use ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า

สุรศักดิ์ พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร โครงการ Medical Center แบบ Built-to-Suit พื้นที่ 6,900 ตารางเมตร ล่าสุดมีการลงนามในสัญญากับผู้เช่าและเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการคลังสินค้า/โรงงานคุณภาพสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการคลังสินค้าให้เช่าแห่งแรกในประเทศเวียดนาม ขนาด 35,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงฮานอย คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ภายในช่วงสิ้นปี 2567 หรือต้นปี 2568       
 ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการส่งเสริมแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมีโครงการ Green Logistics ซึ่งบริษัทฯ จะมีการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ และพัฒนาแอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงแบตเตอรี่ เพื่อมุ่งสู่การสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ โดยในปี 2566 มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 25 คัน และตั้งเป้าหมายที่จะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 1,000 คัน ในปี 2567 
ส่วนการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในสัดส่วน 50% มูลค่า 2,640 ล้านบาท เป็นหนึ่งอีกความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนดังกล่าวเป็นการตอกย้ำความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้นำตลาดของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่การยกระดับการให้บริการกับลูกค้า

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART จำนวน 142,896 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่ารวม 3,566 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทฯ มีแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR โดยตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 213,000 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,290 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปีนี้ส่งมอบโครงการและสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตร.ม. แบ่งเป็นประเทศไทย 165,000 ตร.ม. และเวียดนาม 35,000 ตร.ม. และคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะเพิ่มถึงระดับ 3,145,000 ตร.ม.  

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ปี 2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวม 2,767 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 1,986 ไร่ และเวียดนาม 781 ไร่ และยอด MOU รวม 524 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 452 ไร่ และเวียดนาม 72 ไร่ สอดคล้องกับภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นจากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 และปี 2566 รวมทั้งสิ้น 4,124 ล้านบาท และ 7,659 ล้านบาท ตามลำดับ โดย ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ให้กับลูกค้ากว่า 1,038 ไร่ ในประเทศไทย 802 ไร่ และเวียดนาม 236 ไร่ ซึ่งสูงกว่ายอด Backlog ของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 468 ไร่ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าได้ภายในปี 2567 นี้

โดยยอดขายที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินกับฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 นอกจากนี้ ยังมีการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินในเวียดนามกับฟู่ วิง อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี (เหงะอาน) ในเครือฟ็อกซ์คอนน์ อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก จำนวน 300 ไร่ และ Sunny Optical Technology ผู้ผลิตเลนส์กล้องและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องให้แบรนด์มือถือรายใหญ่ จำนวน 268 ไร่ ในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 - เหงะอาน เฟส 2 

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศไทยและเวียดนามทั้งหมด 77,600 ไร่ รวมพื้นที่ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยอยู่ระหว่างการเจรจาขายที่ดินให้กับลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศ จำนวน 12 แห่ง เป็นพื้นที่รวมกว่า 43,200 ไร่ ซึ่งรวมถึงนิคมใหม่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,200 ไร่ และอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาเฟส 2 อีกราว 950 ไร่ นอกจากนี้ ยังได้ขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 จำนวน 640 ไร่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เฟส 2 จำนวน 480 ไร่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 3 จำนวน 330 ไร่  และโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 เฟส 2 จำนวน 600 ไร่ อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ เขตประกอบอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 จำนวน 2,400 ไร่ และ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 จำนวน 3,400 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2568  

ทางด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ปัจจุบัน มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 - เหงะอาน โดยมีพื้นที่รวม 13,125 ไร่ (2,100 เฮกตาร์) โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 พื้นที่ 900 ไร่ (145 เฮกตาร์) และอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 พื้นที่ 2,215 ไร่ (355 เฮกตาร์) นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ 22,815 ไร่ (3,650 เฮกตาร์) ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 1 – Thanh Hoa พื้นที่ 3,125 ไร่ (500 เฮกตาร์) ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2567 รวมถึงเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone 2 – Thanh Hoa พื้นที่ 1,875 ไร่ (300 เฮกตาร์) และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ (400 เฮกตาร์) โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา

ในปี 2567 ทาง WHA Group ตั้งเป้ายอดขายที่ดินรวมในปี 2567 ไว้ที่ 2,275 ไร่ ในประเทศไทย 1,650 ไร่ และเวียดนาม 625 ไร่ เพื่อรองรับการย้ายฐานทุนและฐานการผลิตที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, SmarWater และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการแบบครบวงจร  

ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ในปี 2566 ภาพรวมผลประกอบการธุรกิจน้ำปรับตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ รับรู้รายได้จากธุรกิจดังกล่าว ในไตรมาส 4 และทั้งปี 2566 เท่ากับ 717 ล้านบาท และ 2,859 ล้านบาท โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมสำหรับไตรมาส 4 และปี 2566 รวมเท่ากับ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศสำหรับไตรมาส 4/2566 จำนวน 29 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำดิบ (Raw Water) เป็นผลจากปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มพลังงาน เช่น Gulf SRC และยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Product) ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้ากลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาส 3/2566

ขณะที่ปริมาณยอดขายและบริหารน้ำในประเทศเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 และ ปี 2566 โดยมียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ตามการขยายพื้นที่การให้บริการและปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ ส่งผลให้บริษัทฯ  รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ Doung River ในปี 2566 เพียง 8.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ 200.2 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Artificial Intelligence (AI) มาสร้างระบบ Smart Water Platform รวมถึง Smart Meter (OCR) ระบบ SCADA และศูนย์ควบคุม UOC ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และมุ่งพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ที่ครบวงจรด้วยแนวความคิด Beyond Water  

ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมที่ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นภายในประเทศ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และในเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมใหม่ๆ ทั้งภายในและภายนอกนิคมของ WHA รวมถึงการมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 4 และ ปี 2566 เท่ากับ 558 ล้านบาท และ 1,743 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในช่วง

ไตรมาส 4/2566 มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรกลุ่มโรงไฟฟ้า SPPs ที่มี Margin การจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันต้นทุนก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า GHECO-One ที่เพิ่มขึ้นจากการบันทึกค่า Availability Payment (AP) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจำนวน 42 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 39 สัญญา กำลังการผลิตประมาณ 50 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC Service จำนวน 3 สัญญา กำลังการผลิตรวม 0.8 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 183 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณ 109 เมกะวัตต์ 

และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ราว 733 เมกะวัตต์ และยังได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572-2573
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการศึกษาแผนการลงทุนในนวัตกรรมด้านพลังงานต่างๆ ได้แก่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) การซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนในสาธารณูปโภคและพลังงานในรูปแบบต่างๆ  ทั้งในประเทศและเวียดนาม 

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ (Conventional Fuel) 547 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 453 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) 283 เมกะวัตต์ 

ธุรกิจดิจิทัล บริษัทฯ ยกระดับการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของบริษัทฯ มุ่งสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยเดินหน้าในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้ภารกิจ “Mission To The Sun” ผ่าน 9 โครงการในการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล อาทิ โครงการ Green Logistics ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เป็นต้น และโครงการ Digital Health Tech ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit ที่ช่วยให้สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งทางบริษัทฯ มีแผนเริ่มต้นการให้บริการแอปพลิเคชันแก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593 ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ Design & Resource, Green Products และ Operation Excellence โดยในปี 2566 กลุ่มธุรกิจทั้ง 4 ได้มีการนำเสนอโครงการ Circular Economy ไม่น้อยกว่า 40 โครงการ เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบนิเวศของบริษัทฯ

นางสาวจรีพร กล่าวทิ้งท้ายว่า WHA Group ประกาศเดินหน้าองค์กรสู่การการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ ภายใต้งบลงทุน 78,700 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โลจิสติกส์ 21,000 ล้านบาท, นิคมอุตสาหกรรม 33,000 ล้านบาท, สาธารณูปโภคและพลังงาน 21,200 ล้านบาท และดิจิทัล 3,500 ล้านบาท สอดรับการแผนการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายภายใต้พันธกิจ 

WHA: WE SHAPE THE FUTURE ในการสร้าง สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน “ความสำเร็จของ WHA Group ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่งและการเติบโตของธุรกิจ ผ่านรางวัลต่างๆ โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้อยู่ใน 2024 S&P Global Sustainability Yearbook ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมิน SET ESG Ratings ปี 2566 ที่ระดับ “AAA” เป็นเรทติ้งระดับสูงสุด นับเป็นการติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน 4 ปีติดต่อกัน รวมถึงรางวัล Best Sustainability Awards และรางวัล Commended Sustainability Awards จากเวที SET Awards 2023 รางวัลเชิดชูเกียรติ Prime Minister Award: Innovation for Global Challenge สาขา Competitiveness รางวัลสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นของคินเซนทริค แห่งประเทศไทย ประจำปี 2023 (Kincentric Best Employer Award Thailand 2023) และรางวัลนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในงาน Eco Innovation Forum 2023 รางวัล Outstanding Award ในงาน EIA Monitoring Awards 2023 ”
WHA