กลุ่ม บมจ.ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) โชว์งบรวมปี 2566 กำไรสุทธิ 99.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.65% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ อานิสงส์รับรู้รายได้จากการให้บริการระบบติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) และงานโครงการภาครัฐ บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.0457295 บาทต่อหุ้น และจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 20 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ปันผล กำหนดจ่าย 20 พฤษภาคม 2567 ฟากบิ๊กบอส “ทศพล คุณะเพิ่มศิริ”ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 10-15% เดินหน้าลุยขยายธุรกิจ GPS Tracking-IoT Solutions ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลักดันผลงานนิวไฮต่อเนื่อง
นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (DTCENT) ผู้นำในการให้บริการระบบ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย (อ้างอิงจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกในเดือนมกราคม 2567) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรวมประจำปี 2566 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีกำไรสุทธิ 99.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.65% เทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 51.98 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่ และมีรายได้รวม 729.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.70% เทียบกับปีก่อน มีรายได้รวม 641.59 ล้านบาท
ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากการขายและให้บริการ ทั้งการใช้ระบบติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) และงานโครงการของภาครัฐ
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบให้จ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 20 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ปันผล และจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.0485073 บาทต่อหุ้น (รวมภาษี หัก ณ ที่ จ่ายออกให้) จากผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
“ผลการดำเนินงานของปี 2566 เติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากธุรกิจการขนส่ง การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นตามปกติ อีกทั้ง ยังสามารถส่งมอบงานจากโครงการ ทั้งในส่วนของงานภาครัฐและเอกชนได้ตามกำหนด รวมถึงบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด” นายทศพล กล่าว
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2567 ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง จากการขยาย DTC SHOP เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการเพิ่มอีก 20 แห่งภายในปีนี้ จากเดิมที่เปิดให้บริการแล้ว 9 แห่ง
ในส่วนของงานด้าน IoT Solutions และระบบ AI บริษัทฯ วางแผนทำโครงการ Smart City Solution, Smart AI Solution ให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจ ปัจจุบันได้รับงานโครงการระบบ AI เพื่อบริหารจัดการเครื่องสูบน้ำ ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร สำหรับระบบ BAMS (Business Activity Management System) เปิดให้บริการบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว มีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ 45 บริษัท
ขณะที่ ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ GPS Tracking และงาน IoT Solutions ทั้งการเปิดศูนย์ DTC SHOP เพิ่ม การรับงานจากโครงการของภาครัฐ การพัฒนาระบบ AI และมีแผนที่จะนำโมเดล GPS Tracking และงาน IoT Solutions ไปขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมทั้งมีแผนที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ในรูปแบบ M&A กับบริษัทฯ ที่มีผลงานที่ดีต่อเนื่อง คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ จึงมั่นใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ จะสนับสนุนให้รายได้เติบโต 10-15% จากปีก่อน นิวไฮต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขอ Certificate IATF 16949 ระบบมาตรฐานการจัดการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้ผลิตยานยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/67 และสามารถเริ่มงาน OEM สำหรับอุปกรณ์ GPS Tracking และ Telematics ได้ในทันที รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ กับ บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) จะสามารถเริ่มงาน OEM สำหรับอุปกรณ์ GPS Tracking และ Telematics ได้ในปี 2568 ส่วนบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (BRS) ขณะนี้เริ่มมีการติดตั้งอุปกรณ์ GPS Tracking ให้กับรถขนส่งสินค้า ในกลุ่มของ บริษัทบุญรอดฯ และมีความร่วมมือในการทำงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐ