Wealth Sharing

KTB ระบุรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว หนุนลงทุนภาคอีสานบูมกว่า 7.6 แสนลบ.ใน 5 ปี


28 กุมภาพันธ์ 2567
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”  หนุนการพัฒนาและการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ราว 7.6 แสนล้านบาท แนะผู้ประกอบการคว้าโอกาสทางธุรกิจจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

KTB ระบุรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว.jpg

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย(KTB)  กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ได้ให้บริการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าเต็มรูปแบบในเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อการค้าการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐของไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเศรษฐกิจในภูมิภาคที่คาดว่าจะคึกคักมากขึ้นในอนาคต

“เม็ดเงินลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 7.6 แสนล้านบาท เป็นอย่างน้อย โดยแบ่งเป็น 1. เม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐ 6.4 แสนล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และสนามบิน รวมถึงการลงทุนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าชายแดน เมืองอัจฉริยะ นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 2. เม็ดเงินจากการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะตามมาอีกอย่างน้อยราว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเหล่านี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทั้งในและนอกภูมิภาคตามมาอีกด้วย”

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาและประเมินจังหวัดที่มีศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด 20 จังหวัด พบว่า กลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี มุกดาหาร ขอนแก่น หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในการเติบโตจากการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและการค้าการลงทุนที่ขยายตัวมากขึ้นในระยะถัดไป

โดย 5 ธุรกิจเด่นที่เป็นโอกาสในแต่ละจังหวัดเหล่านี้ ได้แก่ 1. ก่อสร้าง 2. โลจิสติกส์ (Logistics) 3. ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (Auto Dealer) 4. น้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas) และ 5. โรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพ (Healthcare) โดยธุรกิจเหล่านี้จะได้รับแรงขับเคลื่อนการพัฒนา 3 ด้านหลักที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ได้แก่        

1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ รถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม และเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย สนามบินมุกดาหาร 2. ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะในขอนแก่น ซึ่งมีสถานพยาบาลที่มีคุณภาพการให้บริการระดับสากล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา โดยเฉพาะในอุดรธานีและบึงกาฬ และ 3. ด้านการลงทุน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เมืองอัจฉริยะขอนแก่น 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการและบุคลากร รวมทั้งควรเตรียมความพร้อมในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลดฝุ่น PM 2.5 การศึกษาแนวทางโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เช่น การใช้รถบรรทุกไฟฟ้า การดักจับก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนจากโซลาร์ เป็นต้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในอนาคต ขณะที่ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น
KTB