เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวว่า ธนาคารไทยหลายแห่ง ได้ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee)
โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต VISA/Mastercard เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้าในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ "ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท" ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย หรือยอดกดเงินสดในสกุลเงินบาท
ตัวอย่างร้านค้าออนไลน์ที่ คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เช่น
AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, TRIP.COM, STEAMGAMES, VIU, AMAZON เป็นต้น พูดง่ายๆ คือ ทุกการซื้อสินค้าจากเว็บต่างประเทศ เราจะต้องจ่ายแพงขึ้นอีก 1% จากยอดใช้จ่าย
โดย 1% ที่เพิ่มขึ้น จะเรียกว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า DCC Fee หรือ Dynamic Currency Conversion Fee DCC Fee คือ ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท โดยจะเรียกเก็บสำหรับรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในการซื้อสินค้า บริการ และ/หรือ การกดเงินสดที่เป็นสกุลเงินบาทจากร้านค้าต่างประเทศ (รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย เช่น ถ้าเราซื้อสินค้าในราคา 1,500 บาท เวลาตัดผ่านบัตร VISA หรือ Mastercard จะต้องถูกบวกเพิ่มไปอีก 1% หรือคิดเป็นเงินเพิ่มขึ้นอีก 15 บาท เท่ากับว่า เราจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด 1,515 บาท
คำถาม คือ ถ้าสมมุติว่าเรามีการยกเลิกรายการ ค่าธรรมเนียม 1% จะได้คืนไหม ?
คำตอบ คือ ได้คืน
กรณีมีการยกเลิกรายการ ค่าธรรมเนียม 1% จะมีการคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตภายใต้บัญชีบัตรหลัก
ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป และจะถูกเรียกเก็บ ณ วันที่มีการบันทึกรายการ
ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/YaPWl8P