Wealth Sharing

TCMC ปี 66 กำไร 50.25 ลบ. มากที่สุดในรอบ 5 ปี


05 มีนาคม 2567
ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation) หรือ TCMC ประกาศผลประกอบการปี 2566 ทำรายได้กว่า 8 พันล้านบาท เติบโตสอดรับกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) ผลกำไรสุทธิสูงในรอบ 5 ปีที่ 76.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177% วางเป้าเดินหน้าธุรกิจสู่ความยั่งยืน ขานรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คาดปี 67 พลิกกำไรทุกกลุ่มธุรกิจ

TCMC ปี 66 กำไร 50.25 ลบ.jpg

นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2566 มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 8,006.32 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่รายได้ 9,066.57 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 มีปัจจัยมาจากความต้องการซื้อ ลดลงจากช่วงการเติบโตสูงในช่วงล๊อคดาวน์จากโควิดสำหรับกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ แต่กลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวมีคำสั่งซื้อสูงขึ้น โดยหัวใจสำคัญมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวทำให้ภาคบริการอย่างธุรกิจโรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์ประชุม และธุรกิจ MICE กลับมาคึกคักอีกครั้ง การเพิ่มไลน์สินค้า ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีแนวโน้มคงที่ ทำให้ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจตลอดปี 2566 มี EBITDA จำนวน 596.22 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 5.22 และมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 81.62 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 50.25 ล้านบาท

"เมื่อดูจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทั้งเงินเฟ้อ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายๆ พื้นที่ และราคาน้ำมันที่ผันผวน ภาพรวมการดำเนินงานนับได้ว่ามีการบริหารจัดการและสามารถปรับตัวได้ดี ซึ่งรายได้หลักยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษ แม้ในขณะนี้จะเผชิญกับความต้องการซื้อลดลงจากช่วงการเติบโตสูงสุดในช่วงล๊อคดาวน์จากโควิด ในส่วนของกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) มีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสำหรับกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์แม้การเติบโตจะอยู่ในระดับคงที่ แต่จากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ก็บ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด ถือได้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งโดยภาพรวมบริษัทยังคงมีความมั่นใจที่จะรักษาความเป็นผู้นำในตลาดได้ อีกทั้งยังพร้อมขับเคลื่อนและมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดทางธุรกิจ ผนวกกับการนำแนวคิด ESG มาบริหารจัดการทั้งองคาพยพเพื่อเดินหน้าธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอย่างสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่จากภาครัฐ" นางสาวปิยพร กล่าวถึงภาพรวมทิศทางการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับเศรษฐกิจโลก

นางสาวปิยพร กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) รายได้อยู่ที่ 4,597.13 ล้านบาทโดยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 5,970.14 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23 เป็นไปตามที่คาดการณ์ เนื่องจากตลาดชะลอตัวและการปรับอัตราดอกเบี้ยของประเทศอังกฤษ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น แต่ทว่าท่ามกลางความท้าทายนี้กลุ่มธุรกิจยังคงสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นได้เป็นร้อยละ 18.91 จาก ปีก่อนทำได้ร้อยละ 14.54 ถึงแม้จะมีคำสั่งซื้อลดน้อยลง โดยสาเหตุหลักมาจากการปิดโรงงาน J28 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66  ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง นอกจากนี้ในปี 2565 ยังมีรายได้พิเศษจากการขายกิจการ Arlo & Jacob ในช่วงไตรมาสแรกของปี มีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันเป็นจำนวน 796.02 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าที่ฝ่ายบริหารคาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ถือได้ว่าสะท้อนการดำเนินงานของบริษัทที่สามารถบริหารจัดการได้ดีท่ามกลางความท้าทายนี้

ด้านกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 2,588.92 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่ 2,273.37 หรือคิดเป็นร้อยละ 13.88 โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ และแม้ว่าบริษัทจะเผชิญกับความท้าทายทั้งผลกระทบจากค่าขนส่ง ค่าแรง และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากสภาพตลาด แต่บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกัน และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มธุรกิจสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 41.34 สูงกว่าปีก่อนที่ทำไว้ร้อยละ 37.73 พร้อมกันนี้บริษัทยังได้เดินหน้าส่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ "RT Acoustic" เข้าสู่ตลาดและได้ผลตอบรับที่ดี ผนวกกับการบริหารจัดการภายใน การปรับโครงสร้างการทำงาน และใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการดำเนินงาน ส่งผลให้ภาพรวมเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยและภาษี ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลกำไรสุทธิ 76.12 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 177.56 เป็นผลกำไรที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ของกลุ่มธุรกิจ

ขณะที่กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) ในปี 2566 สามารทำยอดขายได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ที่ 820.27 ล้านบาทโดยลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 823.05 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 0.34 และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 22.41 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ร้อยละ 21.78 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการขายสินค้ากลุ่มพรมรถยนต์ได้มากขึ้น ที่สามารถทำอัตรากำไรได้สูงกว่าสินค้าประเภทผ้าหุ้มเบาะหรือ PU, PVC รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ต้นทุนลดลง อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มบริษัทมีการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ลดลง มีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้รัดกุมมากขึ้น

สำหรับสภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่ดี สามารถชำระหนี้เงินกู้ธนาคารคืนล่วงหน้า ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 2.19 เท่า ณ วันสิ้นปี 2565 เป็น 1.92 เท่า ณ วันสิ้นปี 2566 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวมและหนี้สินรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ลดลง จากวันสิ้นปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 6.72 และร้อยละ 10.63 ตามลำดับ และมีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้น จากวันสิ้นปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 1.83 

"ผลการดำเนินงานในปี 2566 ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวแม้ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอก อาทิ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเรามองว่าในปี 2567 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายในหลากหลายมิติ แต่ TCMC มั่นใจว่าจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดและส่วนแบ่งทางการตลาดตลอดจนศึกษาและมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ รวมถึงการขับเคลื่อนองค์ไปสู่ความยั่งยืนผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ โดยได้กำหนดเป้าหมายการเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตและก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับทุกห่วงโซอุปทานทางธุรกิจอย่างรอบด้านที่ยั่งยืน" นางสาวปิยพร กล่าวทิ้งท้าย