ใครอยากเป็น‘รวย’…ต้องเริ่ม‘เก็บเงิน’ ตั้งแต่วันนี้!
Wealth Me Up มี10 วิธีเก็บเงินง่ายๆ มาฝากกัน…เก็บเงินไม่เก่ง ก็ทำได้
แบ่งเงินออมไว้10% จากเงินเดือน สมมติว่าได้เงินเดือน20,000 บาท ให้แบ่งออมเป็นเงินเก็บไว้ก่อนเลย2,000 บาท เมื่อครบปีเท่ากับว่าจะออมเงินได้ถึง24,000 บาท หากใครที่รายจ่ายรัดตัวจริงๆ อาจเริ่มออมเดือนละ5% ก่อนก็ได้
✅ ข้อดี: เก็บเงินได้จริงทุกเดือน และเมื่อแบ่งเงินเก็บไว้แล้วจะไม่เบียดเบียนกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น
❎ ข้อเสีย: คนที่มีรายรับแต่ละเดือนไม่เท่ากันอาจจะไม่เหมาะใช้วิธีเก็บเงินแบบนี้ เพราะต้องคอยปรับสัดส่วนเงินออมให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอ
เก็บเงินตาม‘ลำดับวัน’ ใน1 ปี
เก็บเงินโดยไล่ตามลำดับวันใน1 ปีไปเรื่อยๆ เช่น วันที่19 เก็บ19 บาท วันที่350 เก็บ350 บาท ซึ่งหากเก็บได้ครบทุกวันจะมีเงินเก็บถึง66,795 บาทเลยทีเดียว
✅ ข้อดี: ช่วงแรกๆ เก็บจำนวนเงินน้อย ทำให้มีแรงจูงใจในการเก็บเงิน
❎ ข้อเสีย: ช่วงเดือนท้ายๆ ของการออมเงิน ต้องเก็บเงินเยอะ อาจเก็บต่อเนื่องยาก และไม่เหมาะกับคนที่รายได้ยังไม่มาก
เก็บเงินใส่‘กระปุกที่เปิดยาก’
ใครที่ชอบหยิบเงินเก็บมาใช้ ลองมองหาภาชนะเป็นกระปุกที่เปิดยากๆ โดยเลือกกระปุกขนาดใหญ่ เพื่อสามารถหยอดทั้งเหรียญและธนบัตรได้ทั้งปี
✅ ข้อดี: สามารถบังคับตัวเองไม่ให้หยิบเงินเก็บมาใช้ได้ดีขึ้น
❎ ข้อเสีย: ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินเก็บจะต้องทุบกระปุกเท่านั้น
เก็บเงินจากส่วนต่างของ ‘ส่วนลด’
เก็บเงินจากส่วนต่างของราคาเต็มและส่วนลดเวลาซื้อของมาเป็นเงินออม เช่น บุฟเฟต์ราคาเต็ม399 บาท ลดเหลือ259 บาท จะเก็บออมได้140 บาท เป็นต้น
✅ ข้อดี: ทำให้มองหาส่วนลดต่างๆ ก่อนใช้จ่ายมากขึ้น ประหยัดเงินในกระเป๋าและได้ออมเงิน
❎ ข้อเสีย: อาจเก็บได้น้อยและได้จำนวนเงินไม่แน่นอน ควรใช้เป็นวิธีการออมเงินเสริมมากกว่าใช้เป็นวิธีเก็บเงินหลัก
เก็บเงินจาก‘แบงก์50’
เก็บธนบัตรฉบับละ50 บาททุกใบที่ได้รับ สำหรับการออมเงินแบบนี้แนะนำว่าให้เก็บสะสมไว้จนครบปีแล้วค่อยนับ จะรู้สึกตื่นเต้นกับการเก็บเงินมากขึ้น บางคนแค่เก็บสะสมแบงก์50 บาท ก็ได้เงินเก็บร่วมหมื่นเลยทีเดียว
✅ ข้อดี: ให้ความรู้สึกเหมือนทำภารกิจในเกม ไม่รู้สึกถูกบังคับ และได้เงินออมจากแบงก์50 จำนวนหนึ่งแน่นอน
❎ ข้อเสีย: บางวันที่ได้จำนวนแบงก์50 หลายใบอาจเบียดเบียนค่าใช้จ่าย สุดท้ายต้องใช้แบงก์50 ในที่สุด ทำให้เก็บได้น้อยลง
เก็บเงินตาม‘ตารางออม’
ทำตารางออมเงิน โดยวางเป้าหมายไว้ เช่น อยากเก็บเงินให้ได้2,000 บาท ภายใน60 วัน ก็สร้างตารางขึ้นมาแล้วกำหนดว่าแต่ละวันใน60 วันนี้ ต้องเก็บเงินวันละเท่าไร จึงจะได้2,000 บาท
✅ ข้อดี: ได้วางแผนการเก็บเงินล่วงหน้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เป็นสูตรการออมเงินที่เหมาะกับคนที่มีรายได้รายวัน
❎ ข้อเสีย: หากไม่มีเป้าหมายการเก็บเงินที่ชัดเจน ก็อาจทำให้ท้อหรือขี้เกียจได้ง่าย
เก็บแบบตั้ง‘เงื่อนไข’
ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองดู เช่น ตื่นสาย10 นาทีเก็บเงิน100 บาท น้ำหนักขึ้น1 กิโลกรัม เก็บเงิน1,000 บาท เป็นต้น
✅ ข้อดี: สร้างแรงจูงใจให้เก็บเงินและเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตัวเองอยากเปลี่ยน
❎ ข้อเสีย: อาจจะเกิดการโกงตัวเองได้ หรือรู้สึกกดดันเกินไป ทำให้การเก็บเงินไม่สนุก
เก็บเงินตาม‘เลขท้ายสามตัว’
วิธีเก็บเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้นและชอบลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล ลองเก็บเงินจากเลขท้ายสามตัวที่ออกรางวัล สร้างสีสันให้การเก็บเงินสนุกขึ้น
✅ ข้อดี: ทำให้การเก็บเงินสนุกมากขึ้น และน่าจะมีเงินเก็บหลักพันต่อเดือน
❎ ข้อเสีย: จำนวนเงินเก็บไม่แน่นอน
‘แข่ง’ เก็บเงิน
ลองชวนพ่อแม่พี่น้อง ลูกหลาน มาแข่งกันออมเงินชิงรางวัลกันดู เป็นอีกวิธีการเก็บเงินที่น่าสนุก ได้สานสัมพันธ์ แถมมีเงินออมกันทั้งครอบครัวอีกด้วย
✅ ข้อดี: เปลี่ยนการเก็บเงินให้สนุกมากขึ้น และได้ช่วยกันเก็บเงินทั้งครอบครัว
❎ ข้อเสีย: คุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่อาจจะไม่ค่อยได้เก็บเงิน เพราะต้องเอาไปให้รางวัลเด็กๆ แทน
เก็บเงินด้วยการ‘ฝากประจำ’
การเปิดบัญชีฝากประจำเป็นวิธีออมเงินที่บังคับให้ตัวเองมีวินัยเก็บเงินทุกเดือน เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ประจำ
✅ ข้อดี: ได้เงินก้อน พร้อมดอกเบี้ยเป็นของแถม สามารถฝากโดยตัดบัญชีอัตโนมัติได้เลย
❎ ข้อเสีย: ไม่สามารถนำเงินฝากออกมาใช้ก่อนกำหนด ต้องปิดบัญชีเท่านั้น
ไม่ว่าจะใช้วิธีเก็บเงินแบบไหน หัวใจสำคัญของการออมเงินคือ ต้องตั้งเป้าหมายที่ไม่หักโหมเกินไป และมีวินัยต่อตนเอง และไม่ว่าจะเก็บเงินด้วยวิธีหรือสูตรการออมเงินแบบไหนก็สามารถช่วยให้เราสามารถเก็บเงินได้มากแน่นอน
ที่มา : #WealthMeUp