Wealth Sharing

TNL ตั้งเป้ารายได้โต 10-12% รักษาอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 15%


11 มีนาคม 2567
TNL เปิดแผนธุรกิจ ปี 67 สยายปีกธุรกิจบริการการเงินเต็มศักยภาพ เพิ่มพอร์ตสินเชื่อ เป็น 6,100 ล้านบาท พร้อมกำเงิน 1,200 ล้านซื้อหนี้ NPLs มาบริหาร ตั้งเป้ารายได้โต 10-12% รักษาอัตราการทำกำไรสุทธิที่มากกว่า 15% มั่นใจเดินมาถูกทาง! หลังปี 66 โชว์ผลงานกำไรสุทธิ 513 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 403% จากปีก่อน เพิ่มอัตรากำไรสุทธิเป็น 18% จาก 5% ในปี 65 หลังเบนเข็มลุยธุรกิจการเงิน

TNL ตั้งเป้ารายได้โต.jpg

นายกิตติชัย ตรีรัชตพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2567 ว่าบริษัทยังคงมุ่งเดินหน้าขยายธุรกิจ New Growth Engines ใน 3 ธุรกิจใหม่ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรให้บริษัทได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Lending Business) และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย (Management of NPLs/NPAs Business) หรือธุรกิจ AMC     

โดยบริษัทได้ตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินงาน (Operating Revenue) ปี 2567 ไว้ที่ประมาณ 2,800 ล้านบาท เติบโต 10-12% จากปีก่อน พร้อมรักษาอัตราการทำกำไรสุทธิที่มากกว่า 15% สำหรับธุรกิจให้สินเชื่อที่มีหลักประกันที่ดำเนินการผ่านบริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด (Oxygen Asset) ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็น 6,100 ล้านบาท โตขึ้นประมาณ 2-3% สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และด้านธุรกิจ AMC ที่ดำเนินการผ่านบริษัท บริหารสินทรัพย์ ออกซิเจน จำกัด (Oxygen Asset Management หรือ OAM) ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. คาดว่าจะเรียกเก็บหนี้ได้ 180 ล้านบาท และตั้งเป้าลงทุนซื้อหนี้ NPL เพิ่มที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีหนี้เสียจากสถาบันการเงินทยอยออกมาขายจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ

“ท่ามกลางความท้าทายทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนบริษัทยังคงมุ่งเน้นขับเคลื่อนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่ออย่างรอบคอบ ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตลงทุน NPL อย่างมีคุณภาพและรัดกุม โดยให้ความสำคัญกับบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ และใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพของ AMC” นายกิตติชัย กล่าว                                                                                           
นายกิตติชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย (Real Estate Development for Sales Business) ที่ดำเนินการโดยบริษัท ทีเอ็นแอน อัลไลแอนซ์ จำกัด (TNL Alliance หรือ TNLA) ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ผ่านบริษัทร่วมทุน (JV) ในสัดส่วน 50:50  ปัจจุบัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ 8 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยก่อสร้างเสร็จ และพร้อมโอนในปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะมียอดโอนรวม 3,000 ล้านบาทในปีนี้                     

นายกิตติชัย ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงาน ปี 2566 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ TNL ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยเข้าลงทุนใน 3 ธุรกิจใหม่ โดยมั่นใจว่าการแปลงโฉมธุรกิจครั้งนี้ จะสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน มั่นคง ในระยะยาวให้แก่ TNL และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเห็นได้จากผลงานปี 2566 ที่บริษัทมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และกำไรสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ โดยปี 2566 TNL มีรายได้รวมที่ 2,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 910 ล้านบาท คิดเป็น 46% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยหลักๆ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 3 ธุรกิจใหม่ ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 411 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 403% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปี 2565 TNL ยังไม่มีรายได้จาก 3 ธุรกิจใหม่ และหลังจากเสริมทัพ 3 Growth Engine ใหม่ TNL สามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิเป็น 18% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ 5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และล่าสุดคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 เม.ย.2567 เพื่อขออนุมัติจ่ายปันผลจากกำไรสะสมเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 3 พ.ค. 2567 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 2 พ.ค. 2567 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 20 พ.ค. 2567                           

ทั้งนี้ การเติบโตของ 3 ธุรกิจใหม่ ในปี 2566 มีดังนี้                                                                  

1. ธุรกิจให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน Oxygen มีรายได้ 481 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อ 5,940 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 2,341 ล้านบาท หรือ 66% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ Oxygen ยังคงรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อได้ดี โดยลูกหนี้ทั้งหมดมีสถานะปกติ ไม่มีลูกหนี้ที่เป็น NPL แต่ Oxygen ได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) ตามหลักความระมัดระวังรอบคอบ เป็นจำนวน 95 ล้านบาท เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและไม่แน่นอน                       

2. ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ OAM เริ่มรับรู้รายได้ดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ปี 2566 หลังประมูลพอร์ต NPL แรกได้สำเร็จในปลายไตรมาส 1 ปี 2566 และต่อมาในปลายปี OAM ได้ซื้อพอร์ต NPL เพิ่มอีก 2 พอร์ต ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตบริหารหนี้ของ OAM อยู่ที่กว่า 3,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 โดยในปี 2566 OAM มีรายได้ดอกเบี้ยรวม 72 ล้านบาท และได้ตั้งสำรอง ECL จำนวน 13 ล้านบาท เพื่อรองรับความผันผวนของธุรกิจและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต                                                                                                            

3. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย TNLA มีรายได้ 287 ล้านบาท ในปี 2566 จากการกำกับดูแลโครงการ และรายได้ดอกเบี้ยรับ จากการให้เงินกู้ยืมแก่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ 6 กิจการร่วมค้า ร่วมกับ NOBLE
TNL