แจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า ผลสะเทือนและความต่อเนื่องของการยุบ พรรคก้าวไกล จะสะท้อนออกอย่างแตกต่างกับผลสะเทือนและต่อเนื่องจากการยุบพรรคการเมืองในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นอดีตการยุบ พรรคไทยรักไทย เมื่อมี 2550 การยุบ พรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551
และต่างไปจากการยุบ พรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563
แม้ว่าความเหมือนอย่างแน่นอนภายหลังการยุบ พรรคไทยรักไทย คือการเกิดขึ้นของ พรรคพลังประชาชน และการเกิดขึ้นของ พรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ พรรคก้าวไกล
กระนั้น จุดต่างภายหลังการยุบ พรรคพลังประชาชน ก่อนการเกิด พรรคเพื่อไทย คือเหตุการณ์เดือนเมษายน 2552 และเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
หรือการชุมนุมอย่างยาวนานนับแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ต่อเนื่องกระทั่งเติบใหญ่พัฒนาขึ้นเป็น “ราษฎร” ข้ามไปยังปี 2564 และปี 2565
คำถามก็คือเหตุใดการยุบพรรคก้าวไกลจึงไม่เกิดผลสะเทือนในลักษณะเหมือนกรณีพรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่
คำตอบมาจาก “เอฟเฟ็กต์” เลือกตั้งพฤษภาคม 2566
ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สร้างความมั่นใจอย่างสูงให้กับ พรรคก้าวไกล ไม่เพียงแต่จากคะแนนและความนิยมที่ได้รับมากถึงกว่า 14 ล้านเสียง
ดำรงอยู่ในสถานะ พรรคอันดับ 1 เหนือกว่าทุกพรรคการเมือง ที่เข้าสัประยุทธ์ผ่านสมรภูมิแห่งการเลือกตั้ง
หากที่สำคัญก็คือ พรรคก้าวไกล รู้ว่าได้ “คะแนน” มาอย่างไร
บาทฐานหนึ่งคือจุดแข็งจากการเชื่อมประสานแนวทาง พรรคอนาคตใหม่ ได้วางเอาไว้ ไม่ว่าในเรื่องนโยบาย ไม่ว่าในวิธีวิทยาในการสร้างพรรคอันมีลักษณะเป็นพรรคมวลชน
บาทฐานหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่และพรมแดนใหม่ อันสอดรับกับยุคสมัยแห่งการพัฒนาเติบใหญ่เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างยิ่งยวด นั่นคือ โลกออนไลน์
ก่อให้เกิดประชาคมใหม่ ก่อให้เกิดการชุมนุมใหม่ บนพื้นที่ใหม่ทางการเมืองที่มีความปลอดภัยและทรงพลังมากกว่า
หากประเมินผ่านจำนวนผู้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวเฉพาะที่ปรากฏผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์จากค่ำ 12 ถึง 13 มีนาคมก็ชัดเจน
ทะยานจาก 60.7K เป็น 208K มากถึงเกือบ 4 เท่า
ไม่ว่าจะมองผ่านยอดคนติดตาม #ยุบพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมองผ่านยอดคนติดตาม #ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนเพิ่มทวีจำนวนผู้เข้าร่วมในลักษณะอันเป็นทวิทวีคูณ
นี่ย่อมต่างไปจากอดีต ไม่ว่าเมื่อปี 2516 ไม่ว่าเมื่อปี 2557 และจะมีผลต่อการเลือกตั้งตั้งหรือไม่ นั่นคือโจทย์ทางการเมือง
ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4469072