Wealth Sharing

ก.ล.ต. เล็งให้ต้องใช้ชื่อ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” สำหรับพันธบัตรที่มีความไม่ปลอดภัย


14 มีนาคม 2567
ก.ล.ต. เล็งให้ต้องใช้ชื่อ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง.jpg

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้หลักเกณฑ์มีความเหมาะสม รวมถึงผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ในการตัดสินใจลงทุน


ในปัจจุบัน มีผู้ออกตราสารหนี้จำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหามีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป ซึ่งแม้ว่าจำนวนบริษัทที่ประสบปัญหาหรือมีเหตุดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ออกตราสารหนี้และมูลค่าการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด แต่การผิดนัดชำระหนี้หรือการขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนตราสารหนี้ 

ในการนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

          หลักเกณฑ์การอนุญาต

         1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ (issuer) ที่มีพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นเดิมที่อยู่ระหว่างการขยายอายุหรือมีการเลื่อนการชำระหนี้ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถออกและเสนอขายตราสารหนี้รุ่นใหม่ได้เฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิเท่านั้น และต้องระบุชื่อหุ้นกู้ให้ชัดเจนว่า issuer อยู่ระหว่างการเลื่อนการชำระหนี้หรือขยายอายุ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรหรือหุ้นกู้

         2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงินในกรณีการขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (มาตรฐาน PAE)

          3) ปรับปรุงการตั้งชื่อสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง* โดยกำหนดให้ต้องมีคำว่า “พันธบัตรเสี่ยงสูง” หรือ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” อยู่ในชื่อของตราสารอย่างชัดเจน

         หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล

          1) ปรับปรุงการเปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงิน และรายงานการใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายตราสารหนี้ โดยเพิ่มประเภทของวัตถุประสงค์การใช้เงินให้ครอบคลุมมากขึ้นและกำหนดให้รายงานการใช้เงินทุกรอบ 6 เดือน

         2) กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้ issuer รายงานการฝ่าฝืน financial covenants ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิต่อ ก.ล.ต.

         3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยอัตราส่วนทางการเงิน ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ และข้อกำหนดด้านการเงิน ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) และแบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (แบบ factsheet)

         4) ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีคำเตือนผู้ลงทุนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว

         5) ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของผู้ลงทุน เช่น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักประกัน เป็นต้น