Wealth Sharing

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้ารายย่อยปี 67 โต 1-2% ลุ้มครึ่งปีหลัง ดบ.นโยบายชัดเจน-รัฐเร่งเบิกจ่ายงบ


14 มีนาคม 2567

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าบุคคลปีนี้โต 1-2%  เน้น 4 กลุ่มหลัก คนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อ จับตาครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้น กนง.ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย และรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ กระตุ้นการลงทุนและใช้จ่ายในประเทศ 

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้ารายย่อยปี 67 โต 1-2_.jpg

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยแผนกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลปี 2567 คาดการณ์สินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 1-2% จากปีก่อนที่เติบโตทรงตัว แต่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเป้าหมาย หากทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายชัดเจนหรือปรับตัวลดลง  รวมถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จากงบประมาณที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้  ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม(ค่าฟี)ปีนี้ คาดเติบโต 5-6%จากการขยายฐานลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งมากขึ้น

ทั้งนี้ธนาคารเตรียมเปิดตัวสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล 100% ภายในต้นเดือนเม.ย.นี้ จะเป็นการนำร่องในช่วงแรก คาดว่ามียอดสินเชื่อ 100 ล้านบาท  หากมีแนวโน้มที่ดีก็พร้อมขยายสินเชื่อดังกล่าวต่อเนื่อง แต่ยังคุมความเสี่ยง

นายฐากร  กล่าวว่า  ธนาคารปรับตัวมุ่งขยายฐานลูกค้าย่อยตามกลุ่มที่โฟกัส และยังส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตทางการเงินดีขึ้น ทั้ง 4 มิติ เงินฝาก การลงทุน ประกันและสินเชื่อ  โดยยกระดับการบริการด้วยการใช้ Digital & Data Innovation ให้เข้าใจลูกค้าได้ในระดับบุคคล เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ ผ่าน4กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อโซลูชันและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากพันธมิตรชั้นนำของธนาคาร ด้วยกลยุทธ์ LEAD the CHANGE for Financial Well-being of Retail Customers

ทั้งนี้ในปี 67 ธนาคารคาดการณ์สินเชื่อบ้านจะเติบโต 1-2% จากปีก่อน  มียอดสินเชื่อคงค้าง 316,000 ล้านบาท , สินเชื่อบ้านแลกเงิน เติบโต 10% จากปีก่อน  มียอดสินเชื่อใหม่ 8,000ล้านบาท , สินเชื่อรถยนต์ เติบโต1-2% จากปีก่อนมียอดคงค้าง 401,000 ล้านบาท ,สินเชื่อรถแลกเงิน ยอดรถใหม่เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อนที่ 85,000คัน

ทางด้านบัตรเครดิต มียอดการใช้จ่าย เติบโต 20-25% จากปีก่อนที่  130,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง เติบโต 10-15%  จากปีก่อนที่ 37,000 ล้านบาท, สินเชื่อบุคคล มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ เติบโต 10-15% จากปีก่อนที่ 35,000ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้าง เติบโต 10-15% จากปีก่อน 39,000 ล้านบาท 

สำหรับเงินฝากคาดว่า  ยังทรงตัวจากปีก่อนมียอดคงค้าง 980,000ล้านบาท แต่ยังเติบโตจากบัญชีเงินฝาก all free (Outstanding)เพิ่มขึ้น 14%  จากปีก่อนมียอดเงินฝากคงค้าง 114,000 ล้านบาท และ บัญชีเงินฝาก ME save  เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน มียอดเงินฝากคงค้าง 33,000 ล้านบาท ขณะที่ บัญชี Term Deposit (Outstanding) ทรงตัวจากปีก่อนมียอดคงค้าง 350,000ล้านบาท  และทางด้านประกัน คาดการณ์มีเบี้ยประกันภัย เติบโต 30-35% จากปีก่อนที่  5,400 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิต เติบโต 15-2% จากปีก่อนที่ 4,600 ล้านบาท   

พร้อมกันนี้ จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุน ทีทีบีจึงเน้นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งรักษาเงินต้นและปิด ความเสี่ยง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดัชนี (Index Linked Note) เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน ที่สูงขึ้น พร้อมคุ้มครองเงินต้นในเวลาเดียวกัน ช่วยต่อยอดความมั่งคั่งทางการเงิน 

ส่วนการส่งต่อความมั่งคั่งของกลุ่มลูกค้า Wealth  ธนาคารยังได้มีการจัดทีม Private Banking ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเพื่อยกระดับ การให้บริการ พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ ผ่านบัตรเครดิต ttb reserve รวมถึงเดินหน้าเจาะ กลุ่มลูกค้า Wealth ที่มีบุตร-หลานเรียนต่างประเทศ และมุ่งเน้นการส่งมอบ Wellness Solution เพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน

โดยคาดว่าในปีนี้ จะมียอดสินทรัพย์การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้น15-20% จากปีก่อนที่ 190,000 ล้านบาท  ทางด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงคุมคุณภาพสินเชื่อ พร้อมเน้นปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ เชื่อว่าปีนี้ NPL ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยปัจจุบัน NPL สินเชื่อบ้านอยู่ที่ 2.9% มองว่าจะทรงตัวในปีนี้ เพราะสินเชื่อบ้านเราเน้นกลุ่มราคาสูงที่มีความเสี่ยงต่ำ 

TTB