จิปาถะ

เปิดยี่ห้อ ไก่ยอ - ไส้กรอกอีสาน ที่ผลิตโดย โรงงานเถื่อนย่านบางเขน


15 มีนาคม 2567
เปิดยี่ห้อของเถื่อน.jpg

ตำรวจสอบสวนกลางเข้าตรวจค้นทลายโรงงานผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน ตรวจยึดไก่ยอและไส้กรอกอีสานไม่มีเลข อย. กว่า 729 กิโลกรัม พบว่า มีโรงงานไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน กทม. ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีการส่งไก่ยอและไส้กรอกอีสานขายตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น


พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ เปิดเผยว่า ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ และ อุปกรณ์ที่สามารถตรวจยึดได้ดังนี้

1. ไก่ยอ ไม่ระบุยี่ห้อ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 17 ถุง
2. ไก่ยอ ยี่ห้อ KMF ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 127 ถุง
3.ไส้กรอกอีสาน ยี่ห้อหม่ำแซ่บ ถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 10 ถุง
4. ถุงบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อต่างๆ 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อ KMF , แม่กระบอก และหม่ำแซ่บ รวม 680 ใบ
5. เนื้อไก่สด จำนวน 450 กิโลกรัม
6. เครื่องบด จำนวน 1 เครื่อง
7. เครื่องตีผสม จำนวน 1 เครื่อง
8. เครื่องยิงไส้กรอก จำนวน 1 เครื่อง
9. เครื่องเป่าลมไส้กรอกให้แห้ง จำนวน 2 เครื่อง
10. เครื่องซิล จำนวน 1 เครื่อง
11. หม้อต้ม จำนวน 3 ใบ
12. แป้งสำเร็จรูป และส่วนผสมต่างๆ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 15 รายการ

รวมตรวจยึดไก่ยอ ไส้กรอกอีสาน และส่วนผสมต่าง ๆ กว่า 729 กิโลกรัม , เครื่องจักร , บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆที่ใช้ในการผลิตลูกชิ้น รวมกว่า 15 รายการ

น.ส.โชติกา (สงวนนามสกุลจริง) ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ รับสารภาพว่า ผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และไม่มีเลขสารบบอาหารแต่อย่างใด โดยใช้บ้านพักดัดแปลงเป็นสถานที่ผลิต จากนั้นนำมาแช่ไว้ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่เพื่อรอการจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบนั้น

ตนซื้อมาจากโรงงานแยกชิ้นส่วนไก่แล้วนำมาผลิตเป็นไก่ยอและไส้กรอกอีสานที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อยมารับสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่ยอและไส้กรอกอีสานวันละประมาณ 100 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 1,600 กิโลกรัม โดยทำมาแล้วประมาณ 4 ปี

ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/mWwYY92