จิปาถะ

เช็กก่อนจ่าย 'บิลค่าไฟปลอม' ระบาดหนัก แนะจุดสังเกต เจอแบบนี้บิลปลอมชัวร์


19 มีนาคม 2567

เช็กก่อนจ่าย.jpg

วันที่ 18 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านภายในหมู่บ้านโครงการแห่งหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่ามีมิจฉาชีพนำ บิลค่าไฟปลอม มาเสียบไว้ที่หน้าบ้านร่วมๆ 10 หลัง โดยทุกบิลจะระบุข้อความว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ” แต่ชื่อ และเลขที่บ้านที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟนั้น ไม่ตรงกับเลขที่บ้าน ของบ้านที่ถูกนำบิลค่าไฟมาเสียบไว้ จนชาวบ้านต่างก็เกรงว่าผู้สูงอายุที่เล่นโชเชียลไม่ค่อยเป็น อาจจะหลงเผลอสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไป แล้วทำให้สูญเงินได้


จากนั้นผู้สื่อข่าวได้รุดพื้นที่ไปยังหมู่บ้านโครงการดังกล่าว และได้สอบถาม คุณเนย ( หนึ่งในชาวบ้าน ) เล่าว่า จุดสังเกตที่ทำให้ตนรู้ว่าบิลค่าไฟที่ได้รับมานั้นเป็นบิลปลอม คือ โดยปกติบิลค่าไฟจะไม่มีการแจ้งเตือนว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ” ที่หัวบิล เพราะถ้ามีการทวงถามค่าค้างชำระ ทางการไฟฟ้าจะส่งมาเป็นเอกสารกระดาษ A4 และบิลนี้ที่ได้รับนั้นก็เป็นบิลเก่า ตัวเลขก็ไม่ชัดเจน ซึ่งตนเคยรู้มาว่าทางการไฟฟ้าได้เคยออกมาชี้แจงและให้ความรู้กับประชาชนว่า

สกรีนช็อต 2024-03-19 140127.png

จุดสังเกตหลักๆคือ รหัสการไฟฟ้า และ เลขรหัสเครื่องวัด ที่ระบุไว้ในบิล ซึ่งในบิลปลอมเหล่านี้ไม่มี อีกอย่างพนักงานที่นำบิลค่าไฟมาเสียบตามบ้านนั้น จะไม่ใช่พนักงานจากการไฟฟ้าโดยตรง แต่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนที่มารับเหมาจดมิเตอร์ตามบ้าน ซึ่งพนักงานทุกคนจะมีเครื่องวัด และถ้ามีข้อผิดพลาดอะไร ประชาชนจะต้องใช้บิลตัวนี้เข้าไปที่การไฟฟ้า และพนักงานจะใช้ตัวเลขดังกล่าวเพื่อตรวจเช็ค เพื่อที่จะระบุได้ว่าพนักงานใช้เครื่องตัวไหนเป็นตัววัดมิเตอร์ รวมถึงถ้าเป็นบิลจริงจะต้องมีรหัสผู้ใช้ที่ชัดเจน อีกทั้ง บิลรูปแบบนี้ทางการไฟฟ้าได้ยกเลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบันรูปแบบของบิลจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และสีที่ต่างกัน

ทางด้านนางสาววิภาวรรณ คิดกล้า อายุ 40 ปี ( พนักงานของโครงการ ) เล่าว่า ตนก็เจอบิลค่าไฟปลอมมาเสียบไว้ที่หน้าบ้านเหมือนกัน แต่ที่ตนเอะใจก็คือ ชื่อ และบ้านเลขที่นั้นไม่ใช่ของที่บ้านตน ตอนแรกตนก็รู้สึกหวั่นๆ เกรงว่าทางการไฟฟ้าจะมาถอดมิเตอร์ผิดบ้าน ตนก็เลยถ่ายรูปโพสต์ลงในเฟสบุ๊กว่า “อย่าเอามาติดสุ่ม 4 สุ่ม 5 เด้อ มั่วบ้านไปหมด บ้านฉัน 329/… ไม่ใช่ 469 #การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”

จากนั้นเพื่อนในเฟซบุ๊กก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ว่า อาจจะเป็นมิจฉาชีพ ต่อมาไม่นานตนก็เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กโพสต์ว่า เจอบิลค่าไฟปลอมแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งตนก็ได้นำบิลปลอมที่ได้รับ ไปเทียบกับบิลจริง ก็ได้เห็นความแตกต่าง ทั้งสีของบิลที่เป็นสีฟ้า แต่ปัจจุบันจะเป็นบิลสีม่วง รวมถึงขนาดก็แตกต่างกัน และบิลปลอมนั้นจะค่อนข้างเก่าอีกด้วย

นางสาววิภาวรรณ คิดกล้า ยังเล่าต่ออีกว่า ตอนนี้ทางนิติของโครงการกำลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดอยู่ เผื่อว่าอาจจะจับภาพของมิจฉาชีพ ขณะที่ตระเวนนำบิลปลอมมาเสียบตามบ้านต่างๆ ตอนนี้เบื้องต้นทางโครงการก็ได้แจ้งให้ลูกบ้านรับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจเช็คอยู่ว่า บ้านที่ถูกนำบิลปลอมมาเสียบไว้ มีกี่หลัง ซึ่งคาดว่าอาจจะร่วมๆ 10 หลังได้

วิธีเช็กบิลค่าไฟปลอมหรือไม่
-บิลจะระบุข้อความว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ”
-ชื่อ และเลขที่บ้านที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟนั้น ไม่ตรงกับเลขที่บ้าน
-เป็นบิลเก่า ตัวเลขก็ไม่ชัดเจน
-รหัสการไฟฟ้า และเลขรหัสเครื่องวัด ที่ระบุไว้ในบิล ซึ่งในบิลปลอมเหลานี้ไม่มี

นอกจากนี้ หากไม่มั่นใจว่าบิลค่าไฟที่ได้มานั้นเป็น บิลค่าไฟปลอมหรือไม่ สามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้าได้ที่แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus

ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/1DRNwn9