รายงานพิเศษ : WP รับอานิสงส์ “อากาศร้อน-นักท่องเที่ยวพุ่ง” หนุนยอดใช้พลังงานโตดันรายได้ทะลุ1.8หมื่นลบ.
สนพ.คาดการณ์ยอดใช้พลังงานปี67 เพิ่มขึ้น 3.1% ผลจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น และอากาศที่ร้อนจัดทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หนุนผลงาน บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้ของกลุ่มบริษัทแตะที่ 18,250 ล้านบาท
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยยอดใช้พลังงานปี 2567 เพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 ซึ่งจากการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2 – 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี67 จะเพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1% การใช้น้ำมันก๊าดธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.3% และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ของปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 35,000 MW สูงกว่าปีที่แล้วเฉลี่ย 15-16%
“ปีนี้อากาศร้อนขึ้นจะเห็นว่า พีคแรกของปีเกิดขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ 32,508.2 MW ขณะที่ปี 2566 พีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,827 MW เมื่อ 6 พ.ค.66 เวลา 21.41น. ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สำรองไฟฟ้าลดลงเหลือ 30% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีความต้องการให้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น น่าจะพีคอยู่ที่ประมาณ 35,000 MW ซึ่งจะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 25%”
ส่วนความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2024 คาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต้นเดือนเมษายน 2567 ส่วนแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการ 5 แผนย่อยเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) จะมีการเปิดรับฟังความเห็นได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
สถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ซึ่ง “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WP ระบุแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ กลุ่มบริษัทตั้งเป้ารายได้แตะที่ระดับ 18,250 ล้านบาท มาจากยอดขายก๊าซ LPG จำนวน 820,000 ตัน เนื่องจากอุตสาหกรรมก๊าซ LPG เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงราคาก๊าซ LPG ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มผลงานในปีนี้มีโอกาสสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
"ในปี 2567 เราตั้งงบลงทุนไว้ที่ 600 ล้านบาท ประกอบด้วยลงทุนในธุรกิจ Green Energy จำนวน 500 ล้านบาท และส่วนอื่นๆอีกประมาณ 100 ล้านบาท โดยเรายังคงมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมกะเทรนด์ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม, EV และ Battery Storage ฯลฯ"
โดยโปรเจคต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น สอดรับเมกะเทรนด์รักษ์โลก ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG)
สำหรับคืบหน้าธุรกิจติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ปัจจุบันมีการเซ็นสัญญาไปรวมทั้งสิ้น 11 เมกะวัตต์ มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recuring Income) ให้กับกลุ่มบริษัท