โลกธุรกิจ

รู้ให้ทันสารพันกลโกงชวนลงทุน


22 กุมภาพันธ์ 2566
“อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง” สำนวนไทยที่มีความหมายตรงตัว คือ อย่าเชื่อใจใครแบบ 100% ถึงคนนั้นจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายทั้งหลาย ก็ไม่ควรไว้วางใจใครมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ได้รับความเดือดร้อนได้ในภายหลัง สำนวนนี้สามารถนำมาเป็นหลักคิดได้กับทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเงินๆ ทองๆ
รู้ให้ทันสารพันกลโกงชวนลงทุน230223.jpg
ในปัจจุบันนี้ เราจะพบเจอข่าวการหลอกลวงโดยแอบอ้างเรื่องของการลงทุนแทบทุกวัน เพราะคำว่า “ลงทุน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกฐานะ อีกทั้งผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจทำให้คนคล้อยตามได้ง่าย การชักชวนให้นำเงินไปร่วมลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ หรือชวนลงทุนในหลักทรัพย์ เทรดหุ้นรายวัน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ได้กำไรหลักหมื่นหลักแสน ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสนใจ และนำเงินเก็บที่มีไปลงทุนจนหมด ซึ่งบ่อยครั้งคนที่มาชักชวนก็เป็นคนใกล้ตัว พร้อมเล่าประสบการณ์ที่ได้รับผลตอบแทนจริง ๆ หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงลงทุนด้วย ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น  ในช่วงแรก เราลงทุนไปด้วยเงินน้อย ๆ ก็ได้ผลตอบแทนคืนอย่างงดงาม ทำให้เรามั่นใจขึ้นอีกระดับ ก็ลงทุนเยอะขึ้น ๆ เมื่อมาถึงจุดนี้ บางคนก็จะเริ่มถูกกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ลงเพิ่ม จะยังถอนไม่ได้ หลาย ๆ คนก็จะเริ่มเอะใจไม่ลงทุนต่อ แต่คนอีกไม่น้อยที่ยอมเพราะอยากได้เงินคืน  ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องเงินที่เราตั้งใจจะเป็นเงินที่ให้เรามีชีวิตสุขสบาย เราควรจะต้องไตร่ตรองให้มากก่อนที่จะโอนเงินให้ใคร

มาสังเกตลักษณะคำเชิญชวนที่มักใช้หลอกลวงบ่อย ๆ ต่อไปนี้ อย่าเพิ่งหลงเชื่อ หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
1. ชักชวนให้ลงทุน โดยให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง อย่าเพิ่งหลงเชื่อ ถึงแม้คนที่ชวนจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทก็ตาม ให้คิดไว้เสมอว่า “ผลตอบแทนที่สูง มักจะมาพร้อมความเสี่ยงที่สูง”
2. มักจะรับประกันหรือการันตีผลตอบแทน หรืออ้างว่าแม้ลงทุนไม่เป็น ก็มีผู้ช่วยให้คำแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน
3. มีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจลงทุน ให้เวลาตัดสินใจน้อย ๆ ถ้าพลาดจะตกขบวน โอกาสดี ๆ อย่างนี้ มีไม่มาก
4. อ้างว่าบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา คนดัง ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ หรือผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ร่วมลงทุนด้วย
5. รูปแบบการทำธุรกิจไม่ชัดเจน อ้างสินทรัพย์ใหม่ ๆ แพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ควรเช็กข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทมีตัวตนจริง หรือเป็นเพียงการปลอมแปลงใบอนุญาตอ้างชื่อ หรือตั้งชื่อให้ใกล้เคียงบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับ
6. เน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า/บริการ
7. ให้โอนเงินลงทุนไปเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้ชักชวนหรือบัญชีของบุคคลอื่น ถ้าเป็นการลงทุนในหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ การโอนเงินจะต้องทำผ่านบริษัทที่ให้บริการซื้อขาย ไม่ใช่บัญชีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

เพื่อ “ติดอาวุธคนไทย ระวังภัยกลโกง” ก.ล.ต. ได้จัดทำเว็บไซต์แหล่งรวมความรู้ภัยกลโกงหลอกลวงการลงทุน เพื่อให้เท่าทันภัยกลโกงการลงทุนที่พบบ่อย อาทิ กลโกงแชร์ลูกโซ่ กลโกง Romance Scam กลโกงแอบอ้างหน่วยงาน โดยประชาชนสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งบทความ คลิปวิดีโอ และ infographic ที่เข้าใจง่าย คลิกเข้าชมข้อมูลได้ที่ SCAM CENTER รู้ทันภัยกลโกงลงทุน https://www.sec.or.th/TH/Pages/ScamCenter.aspx

หากพบเห็นหรือถูกชักชวนการะดมทุนหรืออ้างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น หุ้น กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ และบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้ที่ SEC Check First ทั้งทางแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ www.sec.or.th  รวมทั้งสามารถดูรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังได้ที่ investor alert ที่ลิงก์นี้ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert  หรือสามารถแจ้งเบาะแสมาที่ ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. ได้ที่ (1) โทร 1207 หรือ (2) เฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต.  (3) SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th 

ที่มาบทความ : ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)