คำสั่งเด้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาช่วยที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการสั่นสะเทือนวงการสีกากี
ใจความของคำสั่งเด้ง “บิ๊กสีกากี” ทั้งสองมาช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากกฏอยู่ในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 106/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
“ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และความขัดแย้งส่อจะลุกลามบานปลายจนไม่อาจหาข้อยุติได้ ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
โดยต้องประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจและอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หากไม่กระทำการใด ๆ อาจเป็นเหตุให้ราชการ ประชาชน และประเทศชาติ เสียหายได้
ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
สมควรพิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม
อำนาจนายกฯ ตามกฎหมาย
สำหรับอำนาจนายกฯ ที่ใช้โยกย้ายข้าราชการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้ มาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมให้ได้รับ เงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม
กล่าวคือ นายกฯ สามารถสั่งข้าราชการให้มาปฏิบัติราชการยังสำนักนายกฯ ได้ทุกคน ทุกกรม ทุกกระทรวง ดังนั้น คำสั่งที่ย้ายคนเข้ากรุสำนักนายกฯ ส่วนใหญ่ จะใช้มาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เว้นแต่รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ
ตำรวจเด้งเข้าทำเนียบ
สำหรับ “บิ๊กสีกากี” ที่ถูกเด้งให้เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาล ในสำนักนายกรัฐมนตรี
1.พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อธิบดีกรมตำรวจ มาช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่งเกษียณอายุราชการ กรณีนี้ต้องย้อนไปถึงยุคนายกรัฐมนตรี ชื่อ บรรหาร ศิลปะอาชา ที่ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกหนึ่งตำแหน่ง ได้มีคำสั่งย้ายให้ ให้ พล.ต.อ.พจน์ ย้ายมาสำนักนายกฯ ก่อนจะตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ และเปลี่ยนมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในปี 2541
2.พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกย้ายมาอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เขาอยู่จนเกษียณอายุราชการ
3.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกคำสั่งให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
4.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่องให้ข้าราชการมาช่วยราชการสำนักนายกฯ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 72 (3) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายฯ โดยให้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปก่อน และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รักษาราชการแทน
5.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกสั่งย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กลับมาเป็น ผบ.ตร.ในตำแหน่งเดิม หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ และมีนายกรัฐมนตรีรักษาการชื่อ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 และให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รักษาราชการแทน ทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552
6.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกย้ายไปสำนักนายกฯ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทสได้เพียง 2 วัน โดยมี พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รักษาราชการแทน
ก่อนมาถึงคนที่ 7 และ 8 คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โอนย้ายโดยสมัครใจ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายตำรวจ เป็นเพียงกฎหมายเดียวที่จะโอนตำรวจไปยังหน่วยงานอื่นจะต้องได้รับ “ความสมัครใจ” จากผู้โอน
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 93 ระบุว่า การโอนข้าราชการตำรวจไปรับราชการในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น จะกระทำได้เมื่อเจ้าตัวสมัครใจและส่วนราชการหรือหน่วยงานต้องการจะรับโอนผู้นั้น โดยให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่ขอรับโอนทำความตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หรือใน พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2547 ก็เขียนไว้ มาตรา 63 โดยใช้ถ้อยคำเดียวกัน
จึงมี “บิ๊กสีกากี” ที่ไม่ถูกเด้ง แต่ย้ายโดย “สมัครใจ” มาทำงานในทำเนียบรัฐบาล ก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี โอนจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง โดยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ เมื่อ 4 ตุลาคม 2554 ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วิเชียร มีหนังสือยินยอมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยความสมัครใจ
พล.ต.อ.เอก เอกอังศนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่พลาดตำแหน่ง ผบ.ตร.สุดท้ายคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 โอนย้ายมารับตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แทน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โอนย้ายมาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ทั้ง 6 ตำรวจที่ถูกย้ายเข้าสำนักนายกฯ ก่อนหน้า บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และบิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่เด้งเข้ากรุสำนักนายกฯ
มีเพียง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพียงคนเดียวที่ได้คืนกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะโดนย้ายรอบสองและลาออกจาก ผบ.ตร.ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/wJB13or