จิปาถะ

ถอดรหัสข่าวลือเจ้าหญิงเคท ‘ประชาชนไม่ไว้ใจวัง-สื่อเก่า’


25 มีนาคม 2567
ถอดรหัสข่าวลือเจ้าหญิงเคท.jpg

ทันทีที่แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงเปิดเผยว่าข่าวมะเร็ง ชาวเน็ตก็คาดการณ์กันไปต่างๆ นานาถึงสุขภาพของพระองค์ บางคนถึงกับโพสต์ว่าสิ้นพระชนม์แล้วด้วยซ้ำ ดูท่าแล้วทฤษฎีสมคบคิดน่าจะยังไม่จบง่ายๆ


เจ้าหญิงเคท ชันษา 42 ปี ได้รับกำลังใจล้นหลามจากทั่วโลกหลังเผยแพร่คลิปวิดีโอเมื่อวันศุกร์ (22 มี.ค.) เปิดเผยว่า พระองค์อยู่ระหว่างทำเคมีบำบัดเชิงป้องกัน ด้วยหวังจะหยุดข่าวลือที่แพร่สะพัดจากการที่พระองค์ไม่ออกสื่อมานาน

ทั้งนี้ การแต่งภาพของสำนักพระราชวังที่เผยแพร่ให้สื่อผนวกกับวัฒนธรรมปิดปากเงียบของราชวงศ์อังกฤษ ยิ่งโหมกระพือการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาบนโลกออนไลน์

แต่การโพสต์ทฤษฎีเลื่อนลอยบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการโพสต์อิโมจิหัวกระโหลกที่อ้างว่าเจ้าหญิงสิ้นพระชนม์แล้วหรืออยู่ในอาการโคมา ยิ่งฉายภาพภาวะปกติใหม่ของความโกลาหลด้านข้อมูลในยุคเอไอและการบิดเบือนข่าวสาร

ข่าวลือกลายเป็นเรื่องซีเรียสเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อตำรวจอังกฤษต้องสอบสวนเหตุความพยายามเข้าถึงประวัติทางการแพทย์ของเจ้าหญิงเคท

เฮเลน ลูอิส นักเขียนประจำของนิตยสารสหรัฐ “แอตแลนติก” กล่าวว่า เจ้าหญิงเคทถูกให้ร้ายหลังออกแถลงการณ์ ข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดแพร่สะพัดไปราวไฟลามทุ่ง

แม้แต่แทบลอยด์อังกฤษอย่างเดลิเมล ยังต้องตั้งคำถาม “ตอนนี้พวกเกรียนออนไลน์รู้สึกอย่างไรกันบ้าง” ถ้าพวกเขาเชื่อโพสต์พวกนั้นก็คงไม่รู้สึกรู้สาอะไร

นักปั่นข่าวจอมโหด

ผู้ใช้ X และติ๊กต็อกหลายรายอ้างว่า คลิปวิดีโอเจ้าหญิงเคทเป็นดีปเฟคเอไอ ผู้ใช้บางคนโพสต์คลิปแบบสโลว์โมชันเพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าง คลิปใช้ดิจิทัลทำขึ้นมา โดยตั้งข้อสังเกตฉากหลังใบไม้ใบหญ้าไม่ไหวติงบางคนวิเคราะห์การขยับใบหน้า และสงสัยว่าทำไมไม่เห็นลักยิ้มเหมือนที่เห็นในคลิปก่อน

"ขอโทษนะวังวินด์เซอร์, เคท มิดเดิลตัน (และ) สื่อหลัก ฉันไม่ซื้อสิ่งที่คุณกำลังขาย

จริงๆ แล้วไม่เสียใจเลย คุณคงเคยอ่าน ‘The Little Boy That Cried Wolf’ กันแล้วใช่ไหม?" ผู้ใช้คนหนึ่งโพสต์ผ่าน X

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับมะเร็งก็มี หลายโพสต์อ้างผิดๆ ว่า มะเร็งไม่ทำให้ตายเท่ากับการทำเคมีบำบัดด้วย “ยาพิษ” บางคนร่วมวงด้วยการเชื่อมโยงว่า เจ้าหญิงเคทเป็น “มะเร็งเทอร์โบ” ผลจากวัคซีนป้องกันโควิด-19

“ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำโกหกเรื่องมะเร็งเทอร์โบ นักทฤษฎีสมคบคิดเป็นนักแสดงโหดร้ายทำการตลาดกับความกลัวและข้อมูลบิดเบือน” ทิโมธี คอลฟิลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล มหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตาในแคนาดากล่าว

เมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย

ทฤษฎีแปลกๆ นับไม่ถ้วนตอกย้ำความจริงว่า ข่าวสารบิดเบือนบนอินเทอร์เน็ตแพร่สะพัดขนาดไหน ปัญหาถูกซ้ำเติมเมื่อสาธารณชนไม่ไว้ใจสถาบันและสื่อเก่า

นักวิจัยกล่าวว่า ประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การเลือกตั้ง สภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพก็เกิดความไม่ไว้วางใจแบบเดียวกัน

“ผู้คนไม่ไว้ใจสิ่งที่พวกเขาเห็นและอ่าน เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยถูกเพาะขึ้น ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจ ทฤษฎีสมคบคิดจึงได้รับความสนใจมาก” คาเรน ดักลาส อาจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยเคนท์ให้ความเห็น

เจ้าหญิงเคทเจอข่าวลือมากมายนับตั้งแต่พระองค์ไม่ออกสื่อหลังงานคริสต์มาสในโบสถ์ และทรงเข้ารับการผ่าตัดช่องท้องในเดือน ม.ค.สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อพระองค์ยอมรับว่าตกแต่งภาพครอบครัวที่วังเผยแพร่เนื่องในโอกาสวันแม่ หลังจากสำนักข่าวดังแห่กันลบภาพทิ้ง

ข่าวลือยิ่งไปไกลเมื่อมีคลิปพระองค์เสด็จตลาดกับพระสวามี ชาวเน็ตอ้างว่า เป็นตัวปลอม

“ยิ่งเป็นเรื่องของสถาบันที่เก่าแก่และคลุมเครืออย่างราชวงศ์ ความไม่ไว้วางใจของสาธารณชนทำให้เกิดการขุดคุ้ยมากมาย” แดนนากัล ยัง จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ให้ความเห็น

น่าสังเกตว่าการติดแฮชแท็กเจ้าหญิงเคทได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้ใช้หลายคนเริ่มใช้เพื่อโปรโมตโพสต์ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความสนใจน้อยกว่า เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินเดียและตะวันออกกลาง

นักวิจัยกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ทำให้ไปกันใหญ่คือวัฒนธรรมเงียบเฉยและกลยุทธ์การพีอาร์ผิดพลาดของราชวงศ์

“ว่ากันตามตรงเลย วังควรแก้ไขสถานการณ์ก่อนหน้านี้” ดักลาสสรุป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1119260