“วีซ่า-มาสเตอร์การ์ด” หวังสิ้นสุดคดีค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ยืดเยื้อนาน 2 ทศวรรษ ปรับลดค่าธรรมเนียมบัตร 0.04% อย่างน้อย 3 ปี เป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์
สำนักข่าวรอยเตอร์การรายงานว่า วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตรายใหญ่ของโลก ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของโจทก์หรือ กลุ่มร้านค้าที่รวมตัวกันฟ้องในข้อหาเป็นการผูกขาดตลาด จากค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิตและเดบิตที่ “แพงเกินไป" ซึ่งข้อตกลงนี้มีมูลค่ามากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์
ในข้อตกลงระบุว่า วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดยิมยอมที่จะลดลงอัตราค่าธรรมเนียมลงมา 0.04% เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปัจจุบันอย่างน้อย 0.07% เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกว่า 90% เป็นการทำข้อตกลงร่วมกับธุรกิจขนาดเล็ก
การต่อสู้ทางกฏหมายยืดเยื้อยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2548 หลังจากที่ร้านค้าต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ร้องเรียนว่า วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดร่วมกัน “ผูกขาดตลาด" และกำหนดค่าธรรมเนียมการรูดบัตรสูงเกินไป ซึ่งส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของร้านค้าและส่วนต่างที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ
โดยปกติแล้วค่าธรรมเนียมการรูดบัตรเครดิตและเดบิตจะอยู่ที่ 1.5% - 3.5% ของยอดขาย ซึ่งสร้างภาระต้นทุนให้กับธุรกิจ
หากเป็นไปตามข้อตกลง ร้านค้าจะมีอิสระมากขึ้นในการเสนอส่วนลดหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับบัตรที่มีค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนที่สูงกว่า
ข้อตกลงนี้ น่าจะช่วยแก้ปัญหาคาใจของบรรดาร้านค้าปลีกรายย่อยที่ไม่พอใจกฎ “รับทุกบัตร” ของ Visa และ Mastercard ซึ่งกำหนดว่า หากร้านค้ารับบัตรเครดิตยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ก็ต้องรับบัตรเครดิตทุกยี่ห้อในเครือข่ายนั้นๆ ด้วย
ร้านค้าปลีกบางแห่งมองว่า กฎดังกล่าวเป็นสาเหตุเบื้องหลังค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจาก Visa และ Mastercard ร่วมมือกับธนาคารเพื่อออกบัตรเครดิตที่ใช้เครือข่ายพรีเมียมของตนมากขึ้น
ร็อบ เบียร์ด หัวหน้าฝ่ายกฎหมายทั่วไปและหัวหน้าฝ่ายนโยบายระดับโลกของ Mastercard กล่าวในแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงนี้มีขึ้นเพื่อยุติข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมานาน โดยมอบความแน่นอนและประโยชน์ที่สำคัญให้แก่เจ้าของธุรกิจ รวมถึงความยืดหยุ่นในการจัดการโปรแกรมการรับบัตร
ด้านนักวิจารณ์บางคนมองว่า ข้อตกลงระหว่างวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดว่าอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และค่าธรรมเนียมบัตรจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
ร้านค้าในสหรัฐอาจไม่ยอมรับข้อตกลงนี้
อดัม เลวิติน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและการเงินจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์คาดการณ์ว่า เหล่าธุรรกิจอาจคัดค้านข้อตกลงนี้เพราะเป็นการผูกมัดผ่านข้อตกลง “หากนี่คือผลลัพธ์หลังจากการต่อสู้ทางกฎหมายเกือบสองทศวรรษ ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจในสหรัฐ”
ดัก แคนเตอร์ ที่ปรึกษาทั่วไปของสมาคมร้านสะดวกซื้อแห่งชาติ กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับพ่อค้า เพราะเป็นนี่เป็นการแก้ปัญหาเพียงน้อยนิดและชั่วคราวเท่านั้น เพราะหลังจากเลยจุดนี้ไปแล้วทั้ง 2 บริษัทจะมีอิสระในการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมและในข้อตกลงนี้ไม่ได้พูดถึงกลไกในขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งข้อตกลงนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด แต่กลับเป็นเพียงการตรวจสอบเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ขณะที่กลุ่มสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐ หรือ NRF ได้ปฏิเสธข้อตกลงนี้และแสดงความกังวลบางอย่าง
สตีเฟน หัวหน้าฝ่ายบริหารและที่ปรึกษากฎหมายของ NRF กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมการรูดบัตรที่ลดลงตามข้อตกลงนี้ ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับร้านค้า และอัตราค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อร้านค้าและผู้บริโภค แต่ธนาคารกลับเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การต่อต้านค่าธรรมเนียมเหล่านี้ถูกพูดถึงมากขึ้น โดยค่าธรรมเนียมจากการจ่ายผ่านบัตรเครดิตมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แม้ว่าผู้ที่กำหนดค่าธรรมเนียมเหล่านี้คือวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด แต่ธนาคารที่ออกบัตรเป็นผู้ที่มีรายได้ส่วนใหญ่
นั่นหมายความว่าธนาคารต่างๆ รวมถึง JPMorgan Chase & Co., Bank of America Corp. และ Citigroup Inc. ที่ออกบัตรด้วย Visa และ Mastercard น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการลดค่าธรรมเนียมเหล่านี้มากที่สุด
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1119708