จิปาถะ

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกาศลดค่าโดยสาร 20% ตลอดเส้นทาง


29 มีนาคม 2567
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง.jpg

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เกิดเหตุขัดข้อง และแจ้งปิดให้บริการชั่วคราวทุกสถานี


ขณะที่ประชาชนละแวกใกล้เคียง “ได้ยินเสียงว่ามีของตกลงมาจากด้านบนของราง และมีเสียงดังตกกระจายมาบนพื้นถนนด้านล่าง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ของรางรถไฟด้านบน”

ล่าสุด ทางเพจเฟซบุ๊ก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โพสต์ระบุว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ปรับแผนการเดินรถในการให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมปรับลดค่าโดยสาร 20% จนกว่าจะเดินรถได้ตามปกติ

ตามที่ รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ได้หยุดให้บริการตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2567 นั้น จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่าแผ่นเหล็ก (Finger Plate) ที่ติดตั้งระหว่างรอยต่อของทางวิ่ง (Expansion Joint) ได้มีการเลื่อนออกจากตำแหน่ง เมื่อขบวนรถไฟฟ้าเคลื่อนผ่าน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าวเคลื่อนตัวไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้า หลุดออกจากตำแหน่ง ระหว่างช่วงสถานีกลันตัน (YL12) ถึง สถานีศรีอุดม (YL16) ทำให้เกิดความเสียหาย โดยผู้รับสัมปทานได้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางให้บริการว่ามีความพร้อมและความปลอดภัยเพียงพอที่จะให้บริการได้ และได้กำหนดรูปแบบการเดินรถตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ดังนี้

–สถานีลาดพร้าว (YL01) – สถานีหัวหมาก (YL11) เดินรถสองทิศทางมีความถี่ในการให้บริการ 10 นาที และในช่วงเวลาเร่งด่วน (07:00-09:00 น. และ 17:00-20:00 น.) มีความถี่ในการให้บริการ 5 นาที

–สถานีหัวหมาก (YL11) – สถานีศรีเอี่ยม (YL17) เดินรถฝั่งเดียวโดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัว-ท้าย มีความถี่ในการให้บริการ 25 นาที

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดรถโดยสารประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสาร ระหว่างสองสถานีดังกล่าวโดยเพิ่มจำนวนรถไว้ให้บริการในช่วงเช้าอีกประมาณ 10-15 คัน และช่วงเย็นประมาณ 10 คันเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ซึ่งผู้โดยสารสามารถต่อรถประจำทางเพื่อเป็นทางเลือก ไปยังสถานีหัวหมาก (YL11) หรือสถานีศรีเอี่ยม (YL17) ตามทิศทางที่ต้องการ

–สถานีศรีเอี่ยม (YL17) – สถานีสำโรง (YL23) เดินรถสองทิศทาง มีความถี่ในการให้บริการ 10 นาที

โดยในระหว่างการให้บริการดังกล่าวผู้รับสัมปทานได้ปรับลดอัตราค่าโดยสารลง 20% ตลอดเส้นทาง

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองฯ ขออภัยในความไม่สะดวกกับเหตุการณ์ครั้งนี้ และ รฟม. ได้เน้นย้ำให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการให้มีความปลอดภัยสูงสุดและเร่งรัดมาตรการแก้ไขในระยะยาวต่อไป

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4498674