รายงานพิเศษ : นายกฯห่วงภัยไซเบอร์สร้างความเสียหาย หนุนธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ “TPS” โตแกร่ง
นายกรัฐมนตรีห่วงความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา หนุนธุรกิจ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) โดยเฉพาะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ คาดเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ดันรายได้รวมปีนี้โต 35%
ภัยจากไซเบอร์ได้สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจและประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ประจำปีเกี่ยวกับภาพรวมภัยคุกคามบนโมบายดีไวซ์ โดยเน้นย้ำถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยบนมือถือที่แพร่หลายมากขึ้น ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของเครื่องมือและเทคโนโลยีบนมือถือที่เป็นอันตราย
โดยผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ระบุว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการโจมตีที่กำหนดเป้าหมายไปที่โมบายดีไวซ์ ในปี 2566 เพียงปีเดียว จำนวนการโจมตีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 33,790,599 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกือบ 52% เมื่อเทียบกับการโจมตี 22,255,956 ครั้งในปี 2565
ภัยไซเบอร์ที่แพร่หลายที่สุดคุกคามโมบายดีไวซ์คือแอดแวร์ (adware) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งที่แสดงโฆษณาแบบ pop-up ที่ไม่พึงประสงค์ และบางครั้งก็น่ารำคาญ คิดเป็น 40.8% ของภัยคุกคามทั้งหมดที่ตรวจพบ ในส่วนของแบ้งกิ้งโทรจัน (banking Trojan) จำนวนแพ็คเกจการติดตั้งมัลแวร์ลดลงเหลือ 153,682 รายการ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีก่อน ส่วนจำนวนการโจมตีโดยใช้มัลแวร์โมบายแบ้งเกอร์ (mobile banker) บนมือถือยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงของเดิม
ซึ่งภัยทางเทคโนโลยีดังกล่าว นับเป็นภัยร้ายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยระบุตอนหนึ่งว่า ประชาชนยังประสบปัญหาถูกหลอกลวงจากโจรไซเบอร์อยู่ทุกวัน จึงฝากเรื่องนี้ไว้ในการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และเห็นว่าไม่มีเวลาจะหาเหตุผล ว่าเหตุใดถึงทำไม่ได้ แต่ต้องทำให้ได้ ต้องจับรายใหญ่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะตอบสังคมลำบาก เพราะเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ โดยภายในเดือนเม.ย.นี้ ขอให้มีความชัดเจนว่าจะสามารถจับอะไรได้ โดยเรื่องนี้จะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพราะเทคโนโลยีไปไกลมาก
นโยบายการปราบปรามโจรไซเบอร์ของรัฐบาล สอดคล้องกับการทำธุรกิจของ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) ในฐานะผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Solutions Provider : ITP) รวมทั้งธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) และบล็อกเชน (Blockchain)
“นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPS มั่นใจว่าปี 67 จะเป็นปีแห่งการเติบโตที่ดีของ TPS จากยอด Backlog ที่มีอยู่ในมือ ประกอบกับบริษัทตั้งเป้าการเข้าประมูลงานใหม่ประมาณ 7,000 ล้านบาท และยังมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีกหลายโครงการ รวมทั้งธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะองค์กรต่างๆ ต้องการรักษาข้อมูล (Data) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจให้มีความปลอดภัย เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งจากสแกมเมอร์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้รายได้ในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ซึ่งปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 35% จากปีก่อน สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 2,109 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 60% ซึ่ง TPS และ บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะงานภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากภาครัฐ 40% และภาคเอกชน 60%
ขณะเดียวกัน บริษัท แอพพลายด์ เทคเน่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบกิจการค้า ให้คำปรึกษา จำหน่าย ติดตั้ง ซ่อมบำรุงรักษา ระบบราง และเครื่องจักรกลทุกชนิด เริ่มมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) และบล็อกเชน (Blockchain) ได้ให้การบริการครอบคลุมในกลุ่มลูกค้าเดิม พร้อมรุกขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่ม และเพื่อมุ่งสู่การเป็น เทค-คอมพานี (Tech company) อย่างครบวงจร