สัมภาษณ์พิเศษ : SUPER วางเป้ารุกพลังงานสะอาดในไทย รองรับนโยบายรัฐบาลดึงต่างชาติลงทุนในปท.
บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) มั่นใจการผลิตไฟฟ้าสีเขียวในประเทศมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งมีสาเหตุจากอะไร และปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตอย่างไร เราไปติดตามมุมมองนี้กับ คุณจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
มองสถานการณ์การใช้พลังงานสะอาดในปี 67 นี้อย่างไร
ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังมีมาก จากการที่รัฐบาลเปิดประมูลอีกประมาณ 3,600 -5,000 MW และเอกชนก็น่าจะสร้างโซลาร์ รูฟ ของตัวเองมากขึ้น เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า ราคาค่าไฟฟ้าเราค่อนข้างสูง ดังนั้นหากลงทุนเองก็จะประหยัดค่าพลังงานได้ ซึ่งค่าพลังงานในกลุ่มของอุตสาหกรรมจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 30-40% ของต้นทุนการผลิต
นโยบายกระตุ้นใช้พลังงานสะอาดของรัฐบาลส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างไร
ส่งผลดีมาก เพราะตอนนี้ต่างประเทศกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งที่ทำด้าน Data , Microchip, PV Board , Robotic ทุกอย่างที่เป็น Upper Industry กำลังย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ขณะที่กลุ่มที่ใช้แรงงานเยอะจะย้ายไปที่เวียดนาม และเท่าที่ได้คุยกับลูกค้าชาวญี่ปุ่น พบว่าเทคโนโลยีพวกนี้จะทำให้เกิด Supply Chain ใหม่เพิ่มขึ้นมา ดังนั้นนักธุรกิจไทยก็มีโอกาสทำ Supply Chain ให้เค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย
และสาเหตุที่ต้องมาประเทศไทย เพราะในประเทศไทย พลังงงานทดแทนของเรายังมีมหาศาล ยังมีที่ดินที่จะใช้ทำโซลาร์กับแบตเตอรี่ได้
ซึ่งคิดว่ารัฐบาลนี้โชคดีมากและเป็นจังหวะที่บริษัทต่างๆ เริ่มมีการขยายฐานในการผลิต เพราะความไม่มั่นใจด้าน geopolitics หรือตัวจีนที่จะถูกกีดกัน ทำให้ต้องย้ายการผลิตไปประเทศอื่น ทำให้นโยบายปรับเป็น China Plus one ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือไทย
เป้าหมายการเติบโตปีนี้วางไว้อย่างไร
ในปี 67 บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% และใน 3 ปีเราจะเติบโตอีก 5,000 ล้านบาท จากโครงการใหม่ที่เราประมูลได้ในปีที่แล้วประมาณ 360 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม 40 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 320 MW และมีโครงการที่จะต้อง COD อีกในเวียดนาม 170 MW
ทำให้ปีนี้เรา COD ในโรงไฟฟ้าที่ต่างประเทศ 100 MW และในไทย COD 100 MW ดังนั้นทั้งปีจะ COD 200 MW
เป้าหมายการลงทุนโรงไฟฟ้าในอนาคต
ช่วง 2 ปีข้างหน้าเราเน้น การลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยเป็นหลัก แต่ก็ยังมีการลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากแผนการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP8 น่าจะประกาศได้เร็วๆนี้ และอาจลงทุนในกัมพูชานิดหน่อย แต่จะเป็นการขยายการลงทุนไปในภูมิภาคนี้ เนื่องจากยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก
โดยเฉพาะในไทยเชื่อว่า ตลาดเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่นักลงทุนหรือ FDI ให้น้ำหนักในการหารือกับรัฐบาล
มองการลงทุนเรื่องการผลิตไฟฟ้าในไทยอย่างไร
ต้องยอมรับว่าการลงทุนในไทยจะดีมากๆ ทำให้เราลงทุนในไทยก่อน ส่วนในเวียดนามจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 250 MW และสร้างในสปป.ลาวเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 500 MW คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปีครึ่ง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งไปขายไฟฟ้าให้เวียดนาม ซึ่งเป็นสัญญาณระหว่างประเทศ
การประมูลมาแล้ว 360 MW และที่รัฐบาลจะเปิดประมูลใหม่ 3,000-5,000 MW คิดว่าเราไม่น่าจะได้น้อยกว่าครั้งที่แล้ว โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะประมูลได้อย่างน้อย 10% เนื่องจากครั้งนี้เรามีความพร้อมมากกว่า
คาดการณ์รายได้ปีนี้อย่างไร
ยังเชื่อว่าจะทำ New High จากปีก่อนที่มีรายได้ 10,130.71 ล้านบาท ตามการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแผนเข้าประมูลขายไฟฟ้า ในส่วนของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,600-5,000 เมกะวัตต์ ของภาครัฐที่คาดว่าจะเปิดประมูลรอบใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ โดยตั้งเป้าว่าจะประมูลได้ไม่น้อยกว่า 10% ของกำลังการผลิต
สาเหตุที่ตลาดในไทยมีการเติบโตได้อีกมาก
เพราะรัฐบาลออกไปทำโรดโชว์เยอะมากทั่วโลก ซึ่งFDI ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งกูเกิล อเมซอน เทสล่า หรือรายอื่น ทุกคนได้ขอในเรื่องของพลังงานสีเขียว เพราะการผลิตสินค้าต้องมีการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีเพดานการเก็บภาษี หรือ CBAM หากไม่ใช้พลังงานสีเขียวจะต้องมีการจ่ายภาษีในอัตราพิเศษ ทำให้ทุกบริษัทต้องการใช้พลังงานสีเขียว
กลยุทธ์ในการทำธุรกิจปีนี้เป็นอย่างไร
หลักๆเราทำธุรกิจอยู่ใน Green Energy เราต้องบุกตรงส่วนนั้นต่อ เพราะมีความต้องการมาก ซึ่งจากการพูดคุยกับกองทุนที่มีการลงทุนในระดับโลก พบว่า ในอาเซียนช่วงอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จำนวนมาก ส่วนหนึ่งจะเป็นไฟฟ้า บางส่วนจะลงทุนในรถไฟ และบางส่วนจะลงทุนในน้ำ ถนน
สาเหตุที่ขายหุ้นบริษัท ทานตะวันโซลาร์ เพราะอะไร
การขายหุ้นบริษัท ทานตะวัน โซล่าร์ จำกัด (SUNFLOWER) มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 139 MW ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในสัดส่วน 90% มีมูลค่ารายการประมาณ 4,691 ล้านบาท
สำหรับเงินที่ได้มากว่า 4,600 ล้านบาท บริษัทจะนำไปทำ 2 อย่าง คือ การจ่ายหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ย และอีกส่วนจะนำไปขยายโครงการโรงไฟฟ้าที่เราพึ่งชนะมา 360 MW ซึ่งการขายบริษัทดังกล่าว จะเหมือน 3 ปีที่แล้วที่รายได้บริษัทอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และเราก้าวกระโดด ภายใน 3 ปี รายได้เพิ่มมาเป็น 10,130 ล้านบาท และวันนี้เรากำลังจะบอกว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2567-2569 เราจะมีรายได้เพิ่มอีก 5,000-6,000 ล้านบาท เพราะเราได้เม็ดเงินตรงส่วนนี้ขึ้นมา
ส่วนหุ้นที่บริษัทยังถืออยู่ 10% เรายังได้ในเรื่องของ OEM service และโอกาสที่จะขยายธุรกิจกับ กองทุน Actis Energy Fund 5 ในอนาคต
แนวคิดการตั้ง Market Place ของ carbon Credit
การจัดตั้งตลาดกลาง หรือ Market Place นี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ส่งออก ทั้งในเรื่องของ I-REC หรือ carbon Credit เป็นธุรกิจที่เราเปิดบริษัทใหม่มารองรับ ซึ่งจะขยายควบคู่กันไปกับพลังงานทดแทน
คิดว่าภายในไตรมาส2 หรือต้นไตรมาส 3 จะมี Market Place เพื่อรองรับผู้ประกอบการทุกราย ทำให้ง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งที่ SUPER ได้มี 2 อย่าง
1. เรามี I-REC หรือ carbon Credit ที่จะขายอยู่แล้ว
2. ถ้าเราเป็น Market Place ให้คนมาซื้อขาย เราน่าจะค่า Fee เพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ แต่คนจะสบายใจ เพราะได้รับสินค้าและมีการตรวจสอบคุณภาพ
เราวางอนาคตของ SUPER อย่างไร
วันนี้เรามีงานที่เข้าต่อเนื่องในด้านพลังงานทดแทน ดังนั้นเป้าหมายหลักของเรา ต้องการให้บริษัทเป็นบริษัทที่รับสัมปทานในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำ เราต้องการอะไรที่มีสัญญา 20-25 ปี ที่ขายให้รัฐบาล หรือผู้ประกอบการที่มั่นคงและมีรายได้ที่แน่นอน จากPipeline ที่ดูอยู่ พบว่าเรายังไม่มีความจำเป็นที่ก้าวกระโดดไปที่อื่น ดังนั้นส่วนนี้ยังเป็นส่วนหลักที่เราเดินหน้าต่อได้ และลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ฝากถึงนักลงทุน
วันนี้เป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นในบริษัทสัมปทานที่ยังเหลือสัญญาอีก 16 ปี และมีโครงการใหม่เข้ามาอีกเกือบ 400 MW ที่ท่านสามารถลงทุนได้และมีรายได้ที่มั่นคง