จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “Medical Hub” หนึ่งในอุตฯเป้าหมายของไทย หนุน WINMED รับอานิสงส์เติบโต


23 กุมภาพันธ์ 2566
รัฐบาลได้ประกาศให้อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  หนุนการเติบโตของบริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) ในฐานะผู้นำเข้าอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบัน  ที่ตั้งเป้ารายได้ปีนี้แตะ 1,000 ล้านบาท

รายงานพิเศษ Medical Hub หนึ่งในอุตฯเป้าหมายของไท.jpg

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยหวังที่จะผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ

ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ภาครัฐวางไว้ให้ขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย ได้แก่ 
1. ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) 
2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 
3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub) 
4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)

“การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็น 2 ใน 4 องค์ประกอบสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาและยกระดับได้เร็ว รวมทั้งมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นและเป็นเทรนด์ที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกในอนาคต ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่องค์ประกอบที่เหลือได้ ซึ่งจะช่วยให้การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบของไทยมีความเป็นไปได้มากขึ้น”

น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai Compass  กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรมยาจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญสู่ฐานการผลิตในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ซึ่งเป็นเทรนด์การผลิตยาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดโลกสูงถึง 5.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ย 10.6% ต่อปี

2. การยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย BCG Model ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น และจะส่งผลให้มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมนี้ของไทยมีโอกาสแตะระดับ 3.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาท ในปี 2027 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปี 2019 และสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของตลาดโลก

3. การชูจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์เพื่อมุ่งสู่การเป็น World Class Medical Service Hub ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี

“ปัจจุบันส่วนแบ่งในตลาดโลกของ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์สำคัญของไทยยังไม่มากนัก จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก หากสามารถยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027

ตลาดบริการทางการแพทย์ของไทย ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก  สนับสนุนผลงาน บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) ที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้า และจำหน่ายเครื่อง และชุดอุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์

โดย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “นันทิยะ ดารกานนท์”  ระบุ ปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 1,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหนุนมากจากธนาคารโลหิต, กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรีกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงจัดหาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ได้

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2566 บริษัทวางแผนรุกจำหน่ายชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเอง (HPV & STIs Self-Collect) สำหรับผู้หญิงและผู้ชายภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “AVA” ราคา 1,800 บาท (รวมค่าแล็บ และผลตรวจ) สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเอง( STIs )ได้ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด ด้วยขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเซลล์ที่ง่าย สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน มีความสะดวกรวดเร็ว ราคาประหยัดและส่งตัวอย่างเซลล์มาตรวจที่ห้องปฏิบัติการของ WINMED เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยระบบ mRNA ที่มีความแม่นยำ 98% และทราบผลตรวจที่เป็นความลับเฉพาะผู้ตรวจเท่านั้นภายใน 5-7 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการหรือไม่ประสงค์จะไปตรวจที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเปิดให้บริการ “WINMED LAB” เพิ่มอีก 1 สาขา จากปัจจุบันมี 1 สาขาเปิดภายในบริษัท โดยขณะที่อยู่ระหว่างหาสถานที่ และคาดว่าสามารเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/66 โดยแล็บดัง กล่าวเป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจยืนยันระดับโมเลกุลหาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์รวมถึงสายพันธ์โอมิครอน โดยระบบ RT-PCR และ TMA (Transcription Mediated Amplification) ซึ่งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการแบบสองระบบและครบวงจร

อีกทั้งในปีนี้บริษัทเตรียมขยายบริการหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร (Mobile blood collection) ขยายเพิ่มอีก  6 หน่วย จากปี 2565มีบริการรวม 2 หน่วย คือ ที่โรงพยาบาลราชวิถี,โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคโลหิต และรองรับความต้องการ พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรุกขยายห้องแล็บเพื่อผลักดันรายได้เติบโตตามเป้า