ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้ราคาทองคำโลกพุ่งสูงทุบสถิติใหม่รายวันในช่วงนี้
ทว่าที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ"ธนาคารกลางจีน" (PBOC) ที่ซื้อทองในปริมาณ"มากที่สุด" และซื้อ "ต่อเนื่องยาวนานที่สุด" ในรอบ 17 เดือนมานี้
'จีน' ซื้อทองมากแค่ไหน
จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (WGC) พบว่า แบงก์ชาติจีนเข้าซื้อทองคำสำรองต่อเนื่องมานับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 มาจนถึงเดือน มี.ค. 2567 โดยซื้อติดต่อกันทุกเดือนรวมแล้วเป็นเวลา 17 เดือน จากระดับราคาทองในตอนนั้นที่ยังไม่ถึง 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ มาจนถึงราคาที่ทะลุระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์ ไปแล้วในวันนี้
ณ สิ้นปี 2565 จีนมีทองคำสำรองอยู่ประมาณ 2,010 ตัน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,264 ตัน โดยส่วนใหญ่มาจากการซื้อเพิ่มในปีที่แล้วเพียงปีเดียวถึง 225 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 1 ใน 4 ของแบงก์ชาติทั่วโลกที่ซื้อทอง 1,037 ตันในปี 2566
ส่วนในปี 2567 นี้แม้ว่าราคาทองจะแพงขึ้นทุบสถิติใหม่ All-time high ทุกเดือน แต่แบงก์ชาติจีนก็ยังคงซื้อต่อเนื่องทุกเดือนเช่นกัน เฉพาะ 2 เดือนแรกก็ซื้อไปประมาณ 22 ตันแล้ว
ที่ผ่านมาอาจมีแบงก์ชาติหลายประเทศที่ทยอยซื้อตุนทองคำเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อตุนในช่วงที่ทองราคาถูก และมีการเว้นช่วงบ้าง หรือขายออกไปบ้าง ไม่เหมือนจีนที่เป็นการซื้อติดต่อกันทุกเดือนมานานเกือบ 1 ปีครึ่ง ในช่วงที่ทอง"ราคาแพง" และเป็นการซื้อในปริมาณสูง
ทำไมจีนถึงเดินหน้าตุนทองคำ
โดยหลักแล้ว การซื้อทองคำของธนาคารกลางเป็นการกระจายสมดุลของทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปแบบหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินท้องถิ่น และลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์โลกและเงินเฟ้อ แม้ว่าทองคำจะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในทุนสำรองก็ตาม
แต่ในกรณีของจีนนั้น บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องของความพยายาม "ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ" หรือDe-dollarization ทั้งในแง่การทำธุรกรรมและทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมาจากความเสี่ยงหลายด้านทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ไปจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ที่ผ่านมา จีนพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในการทำการค้ากับทั่วโลก โดยมีทุนสำรองระหว่างมากที่สุดในโลกถึงกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ (มี.ค. 2567) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ เช่น เงินสด เงินฝาก พันธบัตร และตั๋วเงิน และจีนยังถือครองตราสารหนี้สหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น
ทว่า "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาจนถึงปัจจุบันในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และยังขยายวงไปถึงอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมสีเขียว ทำให้จีนเริ่มลดการพึ่งพาดอลลาร์ตลอดช่วงหลายปีมานี้ทั้งในแง่ของการทำการค้าและในแง่ของทุนสำรองฯ
ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนเห็นถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตรและอายัดทรัพย์สินของรัสเซียอย่างแสบสันต์ รวมถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (Swift) ทำให้จีนที่มีทั้งประเด็นสงครามการค้ากับสหรัฐและมีประเด็นร้อนเรื่องไต้หวัน ยิ่งต้องลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐลง
จอห์น รีแอด หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดของ WGC เคยให้มุมมองกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กก่อนหน้านี้ว่า การคว่ำบาตรรัสเซียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แบงก์ชาติหลายประเทศต้องมานั่งทบทวนอย่างรอบคอบเรื่องสินทรัพย์ที่ถือครองในทุนสำรองระหว่างประเทศ
จีนเริ่มทยอยลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐจนในเดือน พ.ค. 2565 ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 และช่วงปลายปีเดียวกันในเดือน พ.ย. 2565 แบงก์ชาติจีนจึงเริ่มการลุยซื้อทองเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 32 ตัน และยังคงทยอยซื้อต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะซื้อน้อยลงมากเพราะราคาทองที่แพงทุบสถิติใหม่ก็ตาม
การซื้อทองที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 17 เดือนติดต่อกันแม้จะเป็นช่วงราคาแพงและหลายประเทศทยอยเทขาย ยังสามารถสะท้อนว่าจีนดำเนินการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ และอาจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วย โดยปัจจุบัน ทองคำยังมีสัดส่วนแค่ประมาณ 4% ของทุนสำรองฯ จีนเท่านั้น
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1121729