ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดวันพุธ(10เม.ย.)พลิกร่วงลง 14 ดอลลาร์ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 14.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,348.40 ดอลลาร์/ออนซ์
นอกจากนี้ ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว
นักลงทุนพากันเพิ่มคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด
ล่าสุด นักลงทุนให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. มากกว่าน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 42.6% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 19.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักมากถึง 56.1% เมื่อวานนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.2% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนก.พ.
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121805