“เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป” เตรียมยุติธุรกิจที่ขาดทุน-ขายธุรกิจที่ยังพอมีมูลค่า ลดขนาดองค์กรให้เหลือเพียง 40 คน เน้นการจ้างบุคคลภายนอก 23 เม.ย. 67 ลุ้นศาลนัดฟังคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน
วันที่ 17 เมษายน 2567 แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตามที่บริษัทได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย CB และ CS บนหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น บริษัทขอรายงานสรุปสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้
สาเหตุของการขึ้นเครื่องหมาย
1. CB ฐานะการเงิน (Business) เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านธุรกิจ
1.1 ศาลรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ
1.2 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ขึ้นเครื่องหมาย DP (Default Payment) หุ้นกู้ของ JKN เหตุผล ไม่สามารถชําระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เนื่องจากอยู่ในสภาวะพักการชําระหนี้ (Automatic Stay)
2. CS งบการเงิน (Financial Statements) เนื่องจากผู้สอบบัญชีออกงบและไม่แสดงความเห็นแบบปกติใน 3 เหตุผล เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ (Going Concerns)
2.1 การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชําระหนี้
2.2 การยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
2.3 การจัดหาเงินและสภาพคล่องเพื่อใช้ในการดําเนินงานต่อเนื่อง
แนวทางแก้ไขปัญหา
1. การพิจารณาคดีของศาลล้มละลายกลาง มีความคืบหน้าดังนี้
– บริษัทยื่นคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 โดยศาลรับคําร้องฯ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 และบริษัทเข้าสู่สภาวะการพักชําระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลฯ จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
– กําหนดการของศาลในครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 จําเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 5 มีนาคม 2567 เนื่องจากทนายของฝ่ายบริษัทป่วยไม่สามารถมาศาลได้
– วันที่ 5 มีนาคม 2567 ศาลได้ไต่สวนพยานทุกฝ่าย คดีเสร็จการไต่สวน
– วันที่ 23 เมษายน 2567 ศาลนัดฟังคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน
2. การเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการ มีความคืบหน้าดังนี้
– ทีมที่ปรึกษากฎหมายได้ดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของศาลในการพิจารณารับคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้ดําเนินการมาถึงขั้นตอนที่ 5 แล้ว (จาก 12 ขั้นตอนที่ได้นําเรียนไปเมื่อ Public Presentation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566)
– ด้านแผนธุรกิจและแผนการเงินอยู่ในระหว่างการจัดทํา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันเวลาที่จะนําเสนอต่อศาล
– ในการเตรียมแผนฟื้นฟูฯ บริษัทได้แบ่งการทํางานออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 การดําเนินธุรกิจในประเทศ โดยมี 2 ธุรกิจหลักคือ Commerce และ Content ซึ่งจะใช้
กระแสเงินสดในปัจจุบัน ประกอบกับการลดขนาดองค์กรให้เหลือเพียง 40 คน และเน้นการว่าจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จึงทําให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ
ส่วนที่ 2 การดําเนินธุรกิจในต่างประเทศ คือ Miss Universe ซึ่งในข้อตกลงทางผู้ซื้อ คือ Legacy
Holding Group USA Inc. (LHG) จะเป็นผู้จัดหาเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการทํางานทั้งหมด ดังนั้นบริษัทจึงไม่ต้องใช้เงินในการสนับสนุนงานแต่อย่างใด
3. การปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กร มีความคืบหน้าดังนี้
– โครงสร้างธุรกิจ : ดําเนินงานตามแผน 3 C คือ Content, Commerce และ Contest บริษัทได้เตรียมแผนงานและประมาณการรายได้ในอนาคตเพื่อบรรจุเข้าแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเสนอต่อศาลได้พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้จะมีแหล่งรายได้ที่สําคัญจากธุรกิจบริหารจัดการลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเภทรายได้ (BASIC 10) ได้แก่ 1. Franchise Fee รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศในการจัดประกวดนางงามเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe, 2. Hosting Fee รายได้จากค่า License ที่เรียกเก็บจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด 3. Production Fee รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด 4. Sponsorship Fee รายได้ที่เกิดจากผู้สนับสนุนการจัดการประกวด
5. Licensing& Merchandising Fee รายได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการ หรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ของ MUO 6. Broadcast Fee รายได้จากการให้ License ในการเผยแพร่สัญญาณการจัดการประกวดในแต่ละประเทศ 7. Program & Format fees รายได้จากการให้สิทธิในการผลิตรายการ
8. Talent Management fee (รายได้จากการบริหารจัดการงานจ้างและงานบันเทิงที่เป็นผู้ครอง
ตําแหน่ง 9. Ticket Sales รายได้จากการจําหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทั้งงาน Event และ 10. Travel Packages รายได้จากการดําเนินธุรกิจท่องเที่ยว
– โครงสร้างองค์กร : เตรียมการยุติธุรกิจที่ขาดทุน เตรียมขายธุรกิจที่ยังพอมีมูลค่า เตรียมการว่าบริษัทใดจะปิดและบริษัทใดจะดําเนินธุรกิจต่อ เพื่อนําเสนอต่อศาลพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การขายหุ้น MUO ในสัดส่วนร้อยละ 50 ให้แก่ LHG นั้น เนื่องจากในการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลก สิ่งที่มีความจําเป็นและสําคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ประสบการณ์ ฐานทุน และฐานธุรกิจ ตลอดจนสายสัมพันธ์ (Connection) โดยการดําเนินธุรกิจของ MUO นั้น จําเป็นต้องมีผู้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่ง LHG มีความเหมาะสม มีศักยภาพทั้งทางด้านฐานะการเงิน รวมถึง International Connection ที่จะช่วยทําให้ MUO มุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ภายใน 5 ปีได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี แม้จะทําให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง แต่ขนาดของธุรกิจที่จะใหญ่ขึ้นภายใต้การร่วมมือครั้งนี้บริษัทเชื่อว่ามีความคุ้มค่า
ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้
1. หากศาลพิจารณาไม่รับเข้าแผนฟื้นฟู
2. เจ้าหนี้จำนวนมากคัดค้านการเข้าแผนต่อศาล
บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทมีเจตนาที่ดีในการชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท จะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัทและเพื่อสร้างผลกำไรจากการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง