Talk of The Town

หุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบ กระทบกำไร เหตุส.ธนาคารไทยหั่นดอกเบี้ย MRR โบรกฯชี้ KBANK-KKP โดนหนักสุด


25 เมษายน 2567

เหมือนจะมีความชัดเจนในการออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ หลังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ออกมากดดันให้แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

หุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบ กระทบกำไร copy_0.jpg

โดยมีรายงานว่า สมาคมธนาคารไทย เห็นชอบให้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลงสำหรับกลุ่มเปราะบาง เป็นเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า อ้างอิงจากข่าวสมาคมธนาคารไทย ที่เห็นชอบให้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลงสำหรับกลุ่มเปราะบาง เป็นเวลา 6 เดือน โดยที่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้  

เบื้องต้น มีความเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อ NIM และกำไรสุทธิปี 2024 ของกลุ่ม ธ.พ. แต่ผลกระทบอาจจำกัดมากน้อยไปในแต่ละธนาคาร ซึ่งจากการสอบถามไปยัง ธ.พ.ส่วนใหญ่ที่เราศึกษา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้  

1.คำนิยามของลูกค้าเปราะบาง ซึ่งตามความเข้าใจคือครอบคลุมในกลุ่ม SMEs และลูกค้าบุคคล แต่ธนาคารฯ ให้แนวคิดว่า กลุ่มเปราะบางคือ ลูกหนี้ที่เข้าข่ายว่ามีรายได้ไม่สูง หรือดู profile ของลูกหนี้ว่าแนวโน้มสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลงหรือไม่ เพราะบางรายอาจมีรายได้ไม่สูง แต่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ดีต่อเนื่องก็จะไม่เข้าข่าย ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคารฯ และไม่สามารถเหมารวมว่าเป็น SMEs และลูกค้ารายย่อยทั้งหมด ซึ่งธนาคารฯ ต้องไปประเมินสถานภาพของลูกค้าตนเองจึงจะประเมินผลกระทบได้  

2.อัตราดอกเบี้ย MRR ที่จะลดลง 0.25% ไม่ได้ apply กับลูกค้า SME หรือรายย่อยทุกราย จะเลือกลดเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เปราะบางเท่านั้น โดยที่อัตราดอกเบี้ย MRR ส่วนใหญ่จะคิดกับลูกหนี้ที่เป็น small SMEs ขณะที่ SMEs รายใหญ่จะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ขณะที่สินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR  

3.เนื่องจากการประเมินผลกระทบต่อ NIM และกำไรสุทธิของกลุ่มฯ ในปี 2024 ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก แต่หากมองในกรณีเลวร้ายสุด โดยให้ ธ.พ. ที่มีสัดส่วนการปล่อย SME สูงกว่าค่าเฉลี่ยฯ ได้แก่ KBANK (29%), SCB (17%), KKP (15%), KTB (11%) และ BBL (13%)  เรามองว่า SCB, BBL, KTB น่าจะมีผลกระทบที่จำกัด เนื่องจากไม่ได้เน้นปล่อย SMEs รายเล็ก 

ดังนั้น KBANK, KKP อาจเห็นผลกระทบมากกว่ากลุ่มฯ  ขณะที่สินเชื่อรายย่อย เรียงตามลำดับสัดส่วน ได้แก่ KKP (68%), TISCO (67%) , TTB (63%), KTB (45%), SCB (41%), KBANK (27), BBL (12%) ซึ่งจะเห็นว่าสินเชื่อรายย่อยที่อิงกับ MLR นั้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ จะกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่แล้ว โดย ธ.พ. ที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่ SCB (31%), TTB (28%), KTB (19%), KBANK (15%), KKP (14%), BBL (12%)  

ทั้งนี้ เรายังคงมุมมอง negative ต่อกลุ่ม ธ.พ. โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยขาลงที่สร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้นกลุ่ม ธ.พ. โดยเฉพาะ ธ.พ.ใหญ่ ขณะที่ ธ.พ.กลาง-เล็ก นอกจากแรงกดดันของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ธ.พ.ใหญ่แล้ว หากต้องเจอแรงกดดันเรื่อง loan yield และ NIM ที่ลดลงอีกจากประเด็นนี้ จะยิ่งเห็น downside ต่อผลการดำเนินงานปี 2024 จากที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ เรายังชอบ TTB (BUY: THB2.24) และเลือกเป็น top pick กลุ่มฯ ซึ่งในภาวะที่

ภาพรวมอุตสาหกรรมต้องเจอแรงกดดันทั้งด้าน NIM ขาลงและคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ TTB ยังอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเนื่องจากมี downside risks ของกำไรในระดับต่ำสุดเทียบกับคู่แข่งจากการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่