จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ตลาดเครื่องมือแพทย์โตเฉลี่ยปีละ 8.1% รับอานิสงส์ “กระแสรักสุขภาพ” หนุนรายได้ SMD


30 เมษายน 2567
ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2570 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย จะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% (2562-2570) จากความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น 

รายงานพิเศษ SMD copy0.jpg

ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นทางด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเครื่องมือแพทย์เติบโต จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย พบว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาทในปี 2570 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี (ปี 2562-2570)

นอกจากนี้งานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า ในปี 2565-2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0 % ต่อปี ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลมาจาก

1. อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
2. จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566
3. ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง 
4. กระแสการใส่ใจสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก 
5. ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่อง
6. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 
7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดเครื่องมือแพทย์ กระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์ของ บมจ.เซนต์เมด (SMD) สะท้อนจากปี 2567 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์”  วางเป้ารายได้รวมอยู่ที่  1.8 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 833.83 ล้านบาท  โดยรายได้จะมาจากธุรกิจหลักที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำเข้าจากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลในประเทศและบุคคลทั่วไป จะมีรายได้เข้ามาราว 1 พันล้านบาท
          
ขณะเดียวกันบริษัท ยังมีรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่ง ที่เป็นธุรกิจ New S-curve ของ SMD ที่เสริมเข้ามา ได้แก่ บริษัท เสิร์ฟเฮลธ์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ให้บริการเครื่องมือทางการแพทย์ ภายใต้แบรนด์ SMDX ซึ่งคาดว่าในปี 67 จะมีรายได้ที่ 600 ล้านบาท และบริษัท เอสเอ็มดีไอ จำกัด (SMDI) ประกอบธุรกิจธุรกิจ "รังสีวิทยา" (Radiology) เพื่อการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ จะมีรายได้ที่ 200 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในปี 67 ผู้บริหาร SMD เชื่อว่า  ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนต้องการดูแลและรักษาสุขภาพมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยเชิงบวกจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ทำให้มีความต้องการดูแลรักษาสุขภาพ ความต้องการรักษาโรคต่างๆ ที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น เป็นการดูแลและรักษาสุขภาพที่มีมูลค่าสูง และเป็นกลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูงด้วยเช่นกัน

อีกทั้งชาวต่างชาติยังกลับมาเดินทางรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคยากและซับซ้อนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้เช่าเครื่องมือแพทย์สำหรับรักษาโรคซับซ้อนที่มีมูลค่าสูงกับโรงพยาบาล 

ขณะที่ทางประกันสังคมเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน กรณีการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) ให้แก่สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน โดยสามารถเบิกค่าตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาได้ตามอัตรากำหนด ส่งผลให้สินค้าที่บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายมีความต้องการใช้งานสูงขึ้น โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ม.ค. 67 ซึ่งสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัท

ส่วนในปี 68 บริษัทคาดหวังรายได้รวมจะสามารถเพิ่มขึ้นไปที่ 2.8 พันล้านบาท โดยยังคงเป้าหมายรายได้จากธุรกิจหลักไว้ที่ 1 พันล้านบาท  แม้งบประมาณในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการเติบโตราว 7% ต่อปี ส่วนที่เหลือจะมาจาก SMDX ที่ 900 ล้านบาท และ SMDI ที่ 900 ล้านบาท เช่นกัน โดยที่จะมีการขยายงานในทั้ง 2 กลุ่มอย่างต่อเนื่อง
SMD