ปี 2567 คาดการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูง
- เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง ผู้ปกครองใช้จ่ายประหยัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 2.3% เทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท
- มองไปข้างหน้า เทรนด์ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การศึกษาของไทยยังมีประเด็นคุณภาพที่ต้องเร่งจัดการ
- ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาไทยระยะยาว อาทิ การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป การยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษา รวมถึงการเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้กับบุคลากรผู้สอน
การใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงการเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2567 ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้เพื่อจัดสรรให้กับค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เพิ่มขึ้น
- ค่าเทอมและค่าธรรมเนียม (คำนวณในส่วนของโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่รวมโรงเรียนนานาชาติ) โดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 2.6% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 24,430 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีการปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนเข้าใหม่ เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกิจอย่างค่าจ้างบุคลากร หรือค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า เป็นต้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.9% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 2,750 ล้านบาท การปรับเพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูง ขณะที่ผู้ปกครองควบคุมงบประมาณการซื้อชุดนักเรียน และเลือกซื้อที่มีการจัดโปรโมชั่น
- ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และเสริมทักษะลดลง 0.7% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 1,490 ล้านบาท โดยผู้ปกครองบางกลุ่มมีการปรับลดวิชาเรียน เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นผู้ปกครองคงจะให้บุตรหลานเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะเพิ่มเติม
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับบุตรหลานไปโรงเรียนคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2567 เพิ่มขึ้นเพียง 2.3% เทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 1) มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้นข้างต้น อาจไม่ได้สะท้อนว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีทิศทางที่ดี แต่เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับผลด้านราคาและค่าครองชีพ ขณะที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยพิจารณาเลือกตัดลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก้อนอื่นๆ ควบคู่กับการหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเพิ่มทดแทน
มองไปข้างหน้า ปัจจัยแวดล้อมของการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลง บทบาทของเทคโนโลยีที่มากขึ้น การแข่งขันในตลาดแรงงานสูงจากโลกของการทำธุรกิจเปลี่ยนไปมีผลทำให้ความต้องการแรงงานมีทักษะที่เปลี่ยนไป แต่การศึกษาของไทยมีหลายประเด็นที่ภาครัฐคงต้องให้ความสำคัญในการวางแผนแก้ไขอย่างจริงจัง
- ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นับวันจะสูงขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะมีการแข่งขันที่สูง หรือโรงเรียนที่มีหลักสูตรพิเศษอย่างภาษาต่างประเทศ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น
- คุณภาพการศึกษาของไทยที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีการวัดความสามารถด้านความรู้ระดับประเทศหรือ PISA (รูปที่ 2) ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่ออนาคตของบุตรหลาน และตลาดแรงงานไทย
- ทัศนคติการเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีลดลง จากผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองเกือบครึ่ง (49% ของกลุ่มตัวอย่าง) เห็นด้วยกับบุตรหลานที่เริ่มมองว่าการเรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่าไม่สำคัญต่อการสมัครงานในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าอาชีพอิสระหาเงินได้มากกว่า และปัจจุบัน มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้จากการใช้เทคโนโลยี ในการสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และการสร้างรายได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า
ดังนั้น เพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และเตรียมทักษะความพร้อมให้กับนักเรียน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ 1. การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา 2. การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป 3. การยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา และ 4. การพัฒนาและยกระดับความรู้ใหม่ๆ (Upskill และ Reskill) ให้กับบุคลากรผู้สอน รวมถึงการเพิ่มบุคลากรครูผู้สอน
ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/