จิปาถะ

กรมวิทย์ เปิดผลตรวจข้าว 10 ปี ไม่พบสารปนเปื้อน


20 พฤษภาคม 2567
กรมวิทย์ เปิดผลตรวจข้าว 10 ปี ไม่พบสารปนเปื้อน มีคุณค่าโภชนาการ กินได้มีประโยชน์

กรมวิทย์ เปิดผลตรวจข้าว 10 ปี.jpg

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางด้านสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ ด้วยระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO/IEC 17025

S__488022019_0-2048x947.jpg


นพ.ยงยศกล่าวว่า ตนขอเรียนประชาชนให้ทราบว่า กรมวิทย์ ฯ เป็นตัวแทนของคนไทยทุกคน เป็นห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐาน ทั้งยังเป็นแล็บอ้างอิง หรือเรียกว่า ห้องตรวจชันสูตรอ้างอิง ที่ได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 17025 อันดับที่ 5 ของโลกและที่ 3 ของเอเชีย ดังนั้น ถ้าต้องตรวจชันสูตรสิ่งใดตามมาตรฐานเพื่อความละเอียดรอบคอบ เช่น ข้าว ก็จะใช้ห้องแล็บมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพราะมีความละเอียดแม่นยำสูงมาก ทั้งนี้ กรณีข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการส่งมาตรวจนั้น มีจำนวน 2 ตัวอย่าง คือ ข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม โดยส่งมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา และทางกรมวิทย์ มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก จึงได้ทำการตรวจทันทีแม้ว่าจะติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยใช้นักวิทยาศาสตร์เป็น 10 ท่านในการตรวจ แต่ละท่านต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและมีการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด ผลออกมาสรุปเบ็ดเสร็จกลางดึกคืนวันศุกร์ รายงานผลเมื่อวันเสาร์จึงได้มาแถลงข่าววันนี้ ยืนยันว่ากรมวิทย์ไม่ได้ดึงหรือชะลอผลแต่อย่างใด

S__488022021_0-2048x947.jpg

นพ.ยงยศกล่าวต่อว่า การตรวจข้าวจะมีการตรวจด้วยตาเปล่า ด้วยการดม ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 30 และ 50 เท่า เพื่อตรวจสอบคุณภาพ 3 ด้าน คือ 1.ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม คือการดูลักษณะทั่วไป ดูลักษณะสี กลิ่นของเมล็ดข้าว และดูสิ่งแปลกปลอม เช่น แมลง ซากแมลง ชิ้นส่วนแมลง หิน กรวด เป็นต้น 2.ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารพิษจากเชื้อรา เช่น สารอะฟลาท็อกซิน ทั้ง 5 สารพันธุ์ สารตกค้างที่เหลือจากการรมข้าว สารเคมีที่มีข้อกำหนดต้องตรวจตามมาตรฐานการเกษตร 250 ชนิด การตรวจโลหะหนัก และ 3.ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ที่ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ นอกจากนั้น ยังได้ตรวจหาสารพิษที่พบในอาหารประเภทบะหมี่ ตามที่มีรายงานข้าวในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันด้วย

S__488022024_0-2048x947.jpg

S__488022022_0-2048x947.jpg

“ทางกรมวิทย์มีการตรวจข้าวรวม 4 ตัวอย่าง ประกอบด้วยข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ 2 ตัวอย่างดังกล่าว และข้าวที่กรมวิทย์ได้ซื้อจากร้านค้ารอบกระทรวงฯ อีก 2 ตัวอย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างควบคุมในการเปรียบเทียบกับข้าวที่ประชาชนบริโภคอยู่ทุกวัน” นพ.ยงยศกล่าว

นพ.ยงยศกล่าวต่อว่า ขั้นตอนในการตรวจนั้นจะมีการเตรียมตัวอย่าง และมีตัวอย่างควบคุม ซึ่งจะต้องนำเมล็ดข้าวทั้ง 4 ตัวอย่างไปบดละเอียดและนำมาตรวจหาสารต่างๆ โดยใช้การตรวจถึง 2 รอบ ทั้งที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ให้ตรวจเพียงรอบเดียว ผลการตรวจออกมาในด้านที่ 1 คุณภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม พบว่า ตัวอย่างข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ มีสิ่งแปลกปลอมทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นเศษของมอดทั้ง 3 ชนิดที่พบบ่อยในข้าวสาร ผลการตรวจ 4 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตอยู่ตัวอย่างเดียว คือ ข้าวสารใหม่ที่เป็นตัวอย่างควบคุม ส่วนอีก 1 ตัวอย่างเป็นข้าวเก่าที่ซื้อจากร้านค้าก็มีมอดปนอยู่แต่ไม่มาก แต่ตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา พบว่ามีเศษขาแมลงและมีมอดอยู่จำนวนเยอะกว่ามาก ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ระบุไว้ว่าข้าวหอมมะลิไทยต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าเอามาตรฐานสินค้าเกษตรมาเทียบ ก็จะไม่ผ่าน 3 ตัวอย่าง คือ ข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และข้าวเก่าในร้านค้า

S__488022023_0-2048x947.jpg

ด้านที่ 2 ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารอะฟลาท็อกซิน (B1+B2+G1+G2) และเชื้อราอีก 7 ตัว ได้แก่ Deoxynivalenol, Fumonisins (B1+B2) , Ochratoxin A, Citrinin, Trichothecenes HT-2 toxin, Trichothecenes T-2 toxin และ Zearalenone พบว่าการตรวจครั้งแรก ไม่พบสารตกค้างดังกล่าว ซึ่งมีการตรวจซ้ำอีก 1 รอบ เพื่อตรวจสอบ ทั้งที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 กำหนดให้ทำเพียง 1 ครั้ง ก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ส่วนการตรวจหาสารตกค้างของสารรมควันได้ตรวจครบ 3 ตัว ได้แก่ hydrogen phosphide, bromide ion และ ethylene oxide และเพิ่มการตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ตรวจในกองด่านอาหารและยา ผลปรากฏว่า ไม่พบเลย ส่วนการตรวจโลหะหนัก อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัย แม้จะพบสารตะกั่วที่ 0.009 ในทั้ง 4 ตัวอย่าง แต่ก็พบน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 อยู่ถึง 200 เท่า เช่นเดียวกับตรวจหาสารหนู ที่พบว่าตัวอย่างข้าวจากกระทรวงพาณิชย์พบที่ 0.126 และ 0.146 และข้าวตัวอย่างควบคุม 2 ตัวอย่าง พบที่ 0.151 และ 0.122 ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 ดังนั้น ด้านโลหะปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

“ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางโภชนาการ ผมคิดว่าจะเป็นอาหารได้หรือไม่ได้ ต้องดูตรงนี้ จึงมีการดูเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะเรามองเห็นประโยชน์จากผลการตรวจครั้งนี้ ตัวชี้วัดอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการ จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 ตัวอย่างที่ กระทรวงพาณิชย์ส่งมา และ 2 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากรอบกระทรวงฯ มีคุณค่าทางโภชนการไม่แตกต่างกัน เราจึงเชื่อว่า ถ้าถามว่าข้าวตรงนี้ ยังสามารถให้คุณค่าทางอาหารหรือไม่ ถ้าดูตรงนี้ ทั้ง 4 ตัวอย่างไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปดูเรื่องแรกคือ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ที่ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนมานั้น ประกอบด้วย” นพ.ยงยศกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ยงยศกล่าวว่า ในการตรวจหาวิตามิน และแร่ธาตุที่คาดว่าจะเสื่อมสลายไป แต่ปรากฏว่าข้าว 4 ตัวอย่าง มีวิตามินและแร่ธาตุไม่แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่กรมวิทย์ได้ตรวจมาตลอด 10 วันที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าการตรวจในครั้งนี้เป็นผลตรวจอย่างตรงไปตรงมา โดยบุคลากรที่เชียวชาญและมีความเป็นอิสระ โดยตนในฐานะอธิบดีไม่เคยไปบอก หรือสั่งให้มีการตรวจ หรือกดดันแต่อย่างใด พร้อมได้ยืนยันกับผู้บริหารของกรมวิทย์ ว่าการแถลงข่าวจะต้องเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บส่งผลมา จะไม่มีการแถลงที่บิดพลิ้วจากผลตรวจแม้แต่รายการเดียว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/heading-news/news_4585330