Wealth Sharing

ตลท. โชว์จัดพอร์ตลงทุน ธีม Global Play บริษัทที่มีรายได้ตปท. ชู 5 ปี ให้ผลตอบแทนกว่า 26.13%


23 พฤษภาคม 2567
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูล Theme การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศ (SET-Global Play) โดยจากการพัฒนาฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ ซึ่งทีม SET Research พบว่าบริษัทจดทะเบียนไทยขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

WS (เว็บ) - ตลท. โชว์จัดพอร์ตลงทุน copy_0.jpg

ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้จากต่างประเทศรวม 5.81 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูง คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทีม SET Research ได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ Economic Exposure Universe1 ที่เก็บข้อมูลการลงทุนทางตรง และรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีและแบบรายงาน 56-1 ซึ่งมีการรวบรวมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ใน SET Note ฉบับนี้ ทีม SET Research ได้นำเสนอพอร์ตการลงทุน SET Global Play ที่เน้นการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากต่างประเทศเพื่อเป็นตัวอย่าง และแนวทางในการวิเคราะห์และเลือกลงทุน 
โดยจะแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 พอร์ต ได้แก่ พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (Global Play – Large Cap) และพอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก (Global Play – Mid & Small Cap) 

พอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 25% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 5% 

พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก2 ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 10% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัวพอสมควร เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 0.5%
โดยทั้ง 2 พอร์ตการลงทุนจะใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และจำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนไม่เกินร้อยละ 5 ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุลพอร์ต (rebalancing) ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกครึ่งปี และทำการคัดเลือกหลักทรัพย์จากหมวดธุรกิจ (sector) ที่มีมูลค่ารายได้จากต่างประเทศมากที่สุด 10 อันดับแรก และคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่สุด 2-3 อันดับแรก ในแต่ละหมวดธุรกิจนั้นๆ

สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตการลงทุน SET Global Play-Large Cap มีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (agro & food) และอุตสาหกรรมบริการ (service) ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 28% และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีประมาณ 16% ของพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ พอร์ตการลงทุน SET Global Play-Mid&Small Cap สัดส่วนในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construct) ประมาณ 30% อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ประมาณ 26% และอุตสาหกรรมบริการประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุน

จากการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูง แล้วนำมาจัด portfolio พบว่า ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (SET-Global Play Large Cap) มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 71% มี dividend yield ที่ 4.10% โดยมี P/BV ที่ 0.94 เท่า 

ในขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SET-Global Play Mid & Small Cap) มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 55% มี dividend yield ที่ 3.94% โดยมี P/BV ที่ 0.91 เท่า ซึ่งสูงกว่า dividend yield ของดัชนี SET Index ที่ 3.2%

นอกจากนั้น ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวม พบว่า พอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศ มีผลตอบแทนรวม มากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในหลายๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง 

เช่น ผลตอบแทนรวม 5 ปีย้อนหลังของพอร์ทการลงทุน SET-Global Play Large Cap มีผลตอบแทนรวม 26.13% สูงกว่าดัชนี SET100 Index ที่ -7.55%  หรือหากพิจารณาในระยะสั้น (YTD) พอร์ตการลงทุน SET-Global Play ก็ให้ผลตอบแทนรวมสูงกว่าดัชนีตลาด ตามการส่งออกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้ เป็นต้น 

ในด้านความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (SD) จากพอร์ตการลงทุน SET-Global Play พบว่ามีค่า SD มากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในทุกช่วงเวลาตามสถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบความผันผวนที่สูงขึ้นกับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น พบว่าค่า Sharpe Ratio หรือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (risk-adjusted return) ของ SET-Global Play ยังสูงกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index

สำหรับสัดส่วนอุตสาหกรรมในพอร์ตการลงทุน และหลักทรัพย์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก มีรายละเอียดดังนี้ โดยพอร์ตการลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ 

1.NER สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 33.6% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 6.58% 

2.THCOM สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 45.2%  สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 6.3% 3.STGT สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 88.1% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.95%

4. STA สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 87.5% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.89% 

5. TU สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 88.9% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.88%

6. MEGA สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 51.1% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.73% 

7. SAPEE สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 70% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.66%

8. LANNA สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 83.8% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.44% 

9. PTTEP สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 43.1% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.34% และ KCE สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 99% สัดส่วนน้ำหนักในพอร์ต 5.31%