จิปาถะ

เปิดผลสำรวจค่าแรง 400 บาท กระทบธุรกิจอะไร - จังหวัดไหนมากสุด


24 พฤษภาคม 2567
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ธุรกิจอะไร - จังหวัดไหนได้รับผลกระทบมากสุด

เปิดผลสำรวจค่าแรง copy.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลการสำรวจ ‘หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เป็น 400 บาท กระทบธุรกิจอย่างไร?’ โดยระบุว่า กิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเมืองหลักและเมืองรอง  จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเมื่อ 1 ม.ค. 2567 เป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า 3 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  เพิ่มขึ้น 21% จากค่าแรงขั้นต่ำเดิม 330 บาท   รองลงมาคือ แพร่ น่าน พะเยา ตรัง เพิ่มขึ้น 18% จากเดิม 338 บาท  และ 16 จังหวัดทั่วประเทศ  18% จากเดิม 340 บาท 

ส่วน 3 พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  ได้แก่ ภูเก็ต เพิ่มขึ้น 8% จากค่าแรงขั้นต่ำเดิม 370 บาท  ตามด้วยกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10% จากเดิม 363 บาท  และชลบุรี  ระยอง เพิ่มขึ้น 11% จากเดิม 361 บาท 

สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 400 บาทนั้น เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก และต้องจ่ายค่าแรงอิงตามค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนสูง อาจได้รับผลกระทบมากกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ โดยจากข้อมูลพบว่า สัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 400 บาท ได้แก่ การเกษตร 89% (9.9 แสนคน), บริการอื่น ๆ (ความงาม ร้านซักรีด ฯลฯ) 66% (2.7 แสนคน), โรงแรม/ร้านอาหาร 49% (5.6 แสนคน), ก่อสร้าง 48% (7.4 แสนคน)

ก่อนหน้านี้นิด้าโพลได้เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.50 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศในปีนี้ ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ 

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะคุ้มกับค่าอาหารและค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.84 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะไม่คุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 23.97 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะคุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น ร้อยละ 9.46 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เหตุผลหลัก ที่ทำให้ค่าอาหาร ค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 4.89 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ในปี 2567 ว่าจะต้องได้เห็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาทต่อวัน ทุกกิจการทุกภาคส่วนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป 

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/economy/166763/