จิปาถะ

"โอนเงินผิด...ชีวิตไม่เปลี่ยน" แบงก์ชาติสรุปวิธีแก้ปัญหาหากเราโอนเงินผิด


28 พฤษภาคม 2567
SDJ - โอนเงินผิด.ชีวิตไม่เปลี่ยน.jpg

เทคโนโลยีระบบการชำระเงินที่ทันสมัยทำให้การจ่ายหรือโอนเงินกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานเช่นกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องโอนเงินผิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เราโอนผิดเอง หรือมีคนโอนผิดมาที่เรา แล้วไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร Financial Wisdom ฉบับนี้จะมาเล่าถึงวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้กัน


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีการโอนเงินผิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโอนที่สาขาของธนาคาร ทางตู้ ATM หรือ mobile banking ธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทาง เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยสามารถแบ่งการโอนเงินผิดได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน

ถ้าเราโอนผิด

หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีคนอื่น ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักกันก็สามารถพูดคุยเพื่อขอให้เขาโอนเงินคืนกลับมาให้เราได้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา อย่างแรก เมื่อเรารู้แล้วว่าเราโอนเงินไปผิดบัญชี ให้เราไปติดต่อธนาคารของเรา (ธนาคารต้นทาง) เพื่อสอบถามว่าธนาคารต้องการเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากแต่ละธนาคารอาจใช้เอกสารไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราสามารถเตรียมได้ เช่น ข้อมูลวันเวลา จำนวนเงิน ช่องทางการโอนเงิน ถ้าทำรายการที่ตู้ ATM ก็อาจจะเก็บสลิปใบบันทึกรายการไว้ แต่หากทำผ่าน mobile banking ก็เก็บ e-slip โอนเงินไว้ รวมทั้งอาจจะเตรียมหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะขอ เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือหากเป็นการโอนเงินผิดไปต่างธนาคาร ธนาคารบางแห่งอาจร้องขอใบแจ้งความเป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

เมื่อธนาคารรับแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้วก็จะแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้เราทราบ และจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อบัญชีปลายทางเพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป ถ้าผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน ธนาคารก็จะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเรา แต่ถ้าผู้รับโอนไม่ยินยอมคืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ เราสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนดำเนินการอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเขาโอนผิด
 
กรณีที่มีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราซึ่งจะคล้ายกับกรณีที่แล้ว คือถ้าเป็นคนรู้จักกัน ได้พูดคุยกันแล้วพบว่าเขาโอนเงินผิดมาจริง เราก็สามารถที่จะโอนเงินคืนเจ้าของบัญชีได้เลย แต่ถ้าไม่รู้จักกัน ทางที่ดีเราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบก่อน ถ้าพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี

สิ่งที่พึงระวังคือ เราไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "บัญชีม้า" ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหน ๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน กลายเป็นว่าเราทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ

แต่ถ้าหากมีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราจริงโดยไม่ใช่กลโกงของมิจฉาชีพ แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือนำเงินที่ได้มาไปใช้ เจ้าของเงินก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เช่นกัน

วิธีการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนจะต้องดู คือ หมายเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี ชื่อธนาคาร และจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนที่จะกดยืนยันการโอนเงินไป หากเกิดกรณีโอนเงินผิดขึ้นมาจริง ๆ ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อใครง่าย ๆ จนยอมโอนเงินกลับเอง และควรรีบปรึกษาธนาคารเพื่อให้ธนาคารแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรจะดีที่สุด

ที่มา : https://www.bot.or.th/th/home.html